วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557

สกู๊ปข่าว ไมโครโฟนและเครื่องเสียงในทำเนียบรัฐบาลแพงเกินจริงหรือไม่







เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ระหว่างผมขับรถฟังรายงานข่าวจากวิทยุ เรื่องติดตั้งเครื่องเสียงในห้องประชุม ครม. แห่งใหม่

เห็นผู้จัดรายการวิทยุพูดว่า เครื่องเสียงและอุปกรณ์ในห้องประชุม ครม. ประยุทธ์ เป็นเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยและทันสมัยระดับเดียวที่ห้องประชุมที่ทำเนียบขาว

ซึ่งอันนี้ ผมไม่แน่ใจว่า ผู้จัดรายการพูดเล่นหรือพูดจริง

แล้วพอดีผมได้ดูรายงานข่าวจากไทยพีบีเอสเมื่อคืนวาน ซึ่งทีมข่าวได้นำเสนอที่มาที่ไป ตั้งแต่ เหตุผลว่า ทำไมต้องย้ายสถานที่ประชุม ครม. จากเดิม แล้วไมโครโฟนนั้นแพง หรือไม่แพง แล้วมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร

ลองดูได้จากคลิปนี้ครับ ต้องชื่นชมทีมข่าวไทยพีบีเอส ที่นำเสนอได้เข้าใจง่ายดี




การตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้งบประมาณติดตั้งอุปกรณ์เครื่องเสียงว่าแพงเกินเหตุหรือไม่

โดยเฉพาะราคาไมโครโฟน ตัวละกว่า 140,000 บาท อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ทำสัญญาการซื้อขาย และราคานี้เป็นราคานำเข้าที่รวมภาษีแล้ว แต่ยังสามารถต่อรองให้อยู่ในกรอบการปรับปรุงห้องประชุมคณะรัฐมนตรี 69 ล้านบาทได้


หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คชี้แจงถึงข้อเท็จจริงกรณีการจัดซื้อไมโครโฟนและเครื่องเสียงภายในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ว่า

ไม่เคยให้สัมภาษณ์หรือให้ข้อคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวเนื่องจากไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ ซึ่งประเด็นนี้ทางอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ให้สัมภาษณ์ไว้ชัดเจนแล้วว่า ยังไม่ได้มีการลงนามสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแต่ประการใด ราคายังสามารถต่อรองลงได้อีก โดยบริษัทจะต้องนำเสนอรายละเอียดของราคาอีกรอบต่อกรมฯ ทั้งราคาจริงที่นำเข้าและภาษี เพื่อความชัดเจนโปร่งใสและตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน

ส่วนกระแสที่ว่าไมโครโฟนที่เตรียมจัดซื้อมามีราคาสูงกว่าปกติ นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมาว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการต่อรองราคากันโดยที่ประมาณการไว้จะใช้ทั้งหมด 181 ตัว อยู่ในห้องประชุม 501 จำนวน 100 ตัว โดยจะต่อรองกับบริษัทผู้รับผิดชอบ ให้อยู่ในกรอบราคากลางเบื้องต้นที่ได้ตั้งไว้ของระบบเสียง ระบบควบคุมการประชุม รวมถึงระบบไฟ ที่ได้ตั้งไว้ที่ 69 ล้านบาท

หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกฯโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า

"กระผมขออนุญาตเรียนต่อท่านผู้ติดตามข่าวสารและพี่น้องสื่อมวลชนเรื่องการติดตั้งระบบเครื่องเสียงที่ห้องประชุม ครม. ชั้น ๕ ดังนี้ :"อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ให้สัมภาษณ์ไว้โดยชัดเจนแล้วว่า ยังไม่ได้มีการลงนามสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแต่ประการใด ราคายังสามารถต่อรองลงได้อีก ท่านอธิบดีกล่าวว่า บริษัทจะต้องนำเสนอรายละเอียดของราคาอีกรอบต่อกรมฯ ทั้งราคาจริงที่นำเข้า ภาษี เพื่อความชัดเจนโปร่งใสและตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ยืนยันว่า ราคาต้องต่ำกว่าราคากลางที่ตั้งไว้ตามแนวนโยบายของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รอง หน.คสช. และ ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี"

"ดังนั้น ตามที่มีการกล่าวอ้างถึงการให้สัมภาษณ์ของกระผมเรื่องระบบเครื่องเสียงประจำห้องประชุม ครม. ชั้น ๕ โดยสื่อบางแขนง จึงน่าจะเป็นความเข้าใจผิด กระผมไม่เคยให้สัมภาษณ์หรือให้ข้อคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวเนื่องจากไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ และทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้เป็นผู้ให้ความกระจ่างชัดในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วยแล้ว"

วันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวถึงกรณีการจัดซื้อไมค์ สำหรับห้องประชุมภายในทำเนียบรัฐบาลที่มีราคากว่า 140,000 บาท ว่า เรื่องระบบเสียงและระบบควบคุมการประชุม ทางกรมได้ให้บริษัท อัศวโสภณ เข้ามาดำเนินการปรับปรุง ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม ส่วนเรื่องราคานั้นได้ให้ทางบริษัทเสนอราคามาในเบื้องต้น

"ขณะนี้ยังไม่ได้ทำสัญญา เพราะเป็นการจ้างโดยการยกเว้นระเบียบการพัสดุและอยู่ในขั้นตอนการต่อรองราคากันอยู่ว่าโดยเนื้องานตามแบบที่เราประมาณการไว้จะใช้ทั้งหมด 181 ตัว อยู่ในห้องประชุม 501 จำนวน 100 ตัว และห้องประชุม 301 จำนวน 56 ตัว ห้องประชุม 302 จำนวน 25 ตัว แต่ปรากฎว่าจะใช้เพิ่มอีก 11 ตัว เพราะมีที่นั่งแล้วจำเป็นต้องติดไมค์ ต้องมาเจรจากันในกรอบที่เซ็ตราคากลางเบื้องต้นไว้ทั้งเรื่องของระบบเสียงและระบบควบคุมการประชุมรวมถึงระบบไฟ 69 ล้านบาท ก็จะต่อรองให้อยู่กรอบ 69 ล้านบาท ส่วนที่มีข่าวว่าราคาไมค์แพงกว่าทั่วไปก็ต้องเรียนว่า ไมค์ตัวนี้ยังไม่มีที่ใดใช้ ตัวราคาก็ได้คุยกับบริษัทอัศวโสภณว่า เมื่อไมค์ตัวนี้เป็นของที่นำเข้าก็ให้ท่านตั้งราคาและส่งรายละเอียดในเรื่องของการเสียภาษีศุลกากรและภาษีนำเข้ามาว่าท่านจะตั้งราคาขายเท่าใด แล้วก็จะทำการเจรจาต่อรอง โดยมีกรอบว่าต้องจ้างในวงเงินที่เราได้รับการอนุมัติมา" อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองกล่าว

นายมณฑล กล่าวอีกว่า "เบื้องต้นบริษัทจะทำการเสนอราคามาก่อน แล้วจะนำราคาตรงนี้มาขออนุมัติงบแต่ไม่ใช่ราคาที่จะจ้าง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนจรจากับบริษัทให้อยู่ในกรอบ 69 ล้านบาทหรือต่ำกว่านั้น เชื่อว่าคงจะไม่แพงเกินกว่าความเป็นจริง จากการสอบถามผู้รู้ก็บอกว่า ไมค์ตัวนี้เป็นระบบที่ดีที่สุดในปัจจุบัน"

เมื่อถามว่าจะมีการประชุม ครม. ในวันที่ 9 กันยายนระบบต่าง ๆ เรียบร้อยแล้วหรือไม่ ?

นายมณฑล เปิดเผยว่า "ระบบติดตั้งพร้อมแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการคุยกับฝ่ายไอทีของทำเนียบรัฐบาลในวิธีการเดินระบบ ต้องให้บริษัทเทรนหรืออบรมให้ด้วย ซึ่งมีเพียงเจ้าเดียว การจ้างจึงเป็นการจ้างเจ้าเดียว แต่ไม่รู้หลักการตั้งราคาของผู้ขาย ตนก็ไม่รู้ราคา แต่ก็จะต้องมีการเอาใบนำเข้ามาแสดงว่ามีต้นทุนเท่าไหร่ บวกภาษีแล้วเป็นเท่าไหร่ แล้วเอามาคุยกันว่าราคาที่เหมาะสมเป็นเท่าไหร่ ยืนยันว่าไม่ได้ของบเพิ่มจากจำนวนคือ 69 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม จะพยายามรักษาผลประโยชน์และพยายามต่อรองราคาให้ได้ถูกที่สุด"


ที่มาข่าว ไทยพีบีเอส


------------------------


นี่ก็เท่ากับ รัฐบาลยุค คสช. ก็โดนสื่อและผู้คนได้ตั้งข้อสงสัยและตรวจสอบได้เช่นกัน

ผมว่าก็ดีนะครับ ที่มีกรณีนี้เกิดขึ้น จะได้รู้ว่า ความโปร่งใสที่แท้จริง คือ การที่มีการตรวจสอบได้นี่แหละ


-----------------

สิ่งที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ตั้งข้อสงสัย

 เรื่องเครื่องเสียงของทำเนียบที่มีคนข้อสงสัยเรื่องราคาแพงนั้น พลเอกประยุทธ์ ก็ได้สั่งการให้ตรวจสอบเรื่องนี้ไปก่อนหน้านี้แล้ว

แต่สิ่งที่นายเรืองไกร คณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทยตั้งข้อสงสัย คือ

1.ทำไมราคาไมโครโฟนที่รัฐมนตรีบางคนได้เปิดเผยออกมา จึงเป็นราคาที่แพงกว่าราคาขายปลีกในท้องตลาด ทั้งที่มีการสั่งซื้อจำนวนที่มากกว่า

2.ผลต่างของราคาที่รัฐต้องจ่ายสูงกว่าความเป็นจริงจะไปเข้ากระเป๋าใคร

3.ทำไมจึงมีการส่งของและติดตั้งได้ก่อนที่จะมีการทำสัญญา

(ประเด็นข้อ 3 akecity ขอตอบตรงนี้ว่า คือเท่าที่ผมรู้คือ การจัดซื้อของหน่วยงานราชการ บริษัทเอกชนมักจะเสนอให้ทดลองสินค้าระยะเวลาหนึ่ง โดยทำ MOU ไว้ก่อน เช่น เตียงคนไข้ไฟฟ้าปรับระดับได้ ในโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง ทางเอกชนก็ส่งเตียงใหม่มาให้ทดลองใช้นานถึง 3 เดือน ก่อนที่จะตกลงว่าพอใจสินค้าหรือไม่ ก่อนจะต่อรองราคาและทำสัญญาซื้อขายกัน หากไม่พอใจก็ยกเลิก MOU ได้ครับ มันเป็นทั้งการให้บริการและการยอมรับความเสี่ยงของเอกชนเอง เพราะเขาก็ต้องแข่งขันกับคู่แข่งอื่น ๆ )


4.ครม.จะกล้าใช้ของที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนพัสดุครุภัณฑ์ หรือยังไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของราชการได้อย่างไร

5.ทำไมจึงยอมให้เข้ามาติดตั้ง ก่อนจะมีการลงนามในสัญญา

(akecity ประเด็นข้อ 5 ก็เหมือนที่ผมได้อธิบายแล้วในข้อ3)


6.ทำไมเอกชนกล้าสั่งของมาจากต่างประเทศก่อนโดยยังไม่ได้สัญญาจากรัฐ

(ประเด็นข้อ 6 akecity ขอตอบว่า เรื่องนี้นายเรืองไกร ควรไปถามบริษัทเอกชนเอง เรื่องนี้ที่จริงตอบได้ง่ายมาก นายเรืองไกรไม่น่าโชว์โง่ในข้อนี้)


7.ทำไมจึงเกิดเรื่องไม่โปร่งใสขึ้นกับทรัพย์สินที่จะนำมาใช้ในห้องประชุม ครม.


8.ถ้ายังไม่สั่งซื้อก็เท่ากับยังไม่มีการส่งมอบ ทรัพย์ยังเป็นของเอกชน จะเอามาเป็นอุปกรณ์ในการประชุม ครม.ซึ่งเป็นความลับ จะแน่ใจได้อย่างไรว่าข้อมูลไม่รั่วไหล

ทำไมไม่ให้ รมต.ที่รับผิดชอบออกจากตำแหน่งไว้ก่อน จนกว่าผลการตรวจสอบจะปรากฏความจริงออกมา

(ประเด็นข้อ 8 akecity ขอตอบว่า ถ้าไม่เอามาใช้ก่อน แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ระบบรักษาความปลอดภัยดีจริง เขานำมาให้ทดลองระบบความปลอดภัย เพราะถ้าไม่ดีจริงจะได้ไม่ต้องซื้อไง หรือว่านายเรืองไกรต้องการให้ซื้อก่อนได้ทดลองใช้ ?)


9.ทำไมต้องให้อธิบดีกรมโยธาฯ มารับหน้า รมต.ที่รับผิดชอบมีหรือไม่ ทำไม่ออกมาชี้แจงเอง


10.สิ่งที่อธิบดีกรมโยธาฯ พูดออกมา เท่ากับยอมรับแล้วว่า การจัดซื้อโดยวิธีพิเศษไม่โปร่งใส มีเงื่อนงำใช่หรือไม่


11.ทำไมไม่นำใบขนสินค้าขาเข้าสำหรับไมโครโฟน Bosch รุ่น DCN multimedia CN จากกรมศุลการกรมาแสดงให้เห็นราคา CIF ต่อหน้าสื่อมวลชน


12.ควรทีการเปรียบเทียบรายละเอียดของสินค้าที่ติดตั้งไว้แล้วในห้องประชุม ครม.ว่ามีอุปกรณ์และระบบครบตามที่ปรากฏในใบเสนอราคาหรือไม่ และเป็นไปตามความต้องการของทางราชการหรือไม่


13.ควรเปรียบเทียบรายละเอียดของสินค้าว่า ต้องมีรายการครบถ้วนหรือมากกว่าตามที่แบบในต่างประเทศได้โฆษณาไว้ด้วย เพราะถ้าหากมีการลดราคาอาจมีการลดอุปกรณ์หรือระบบที่รองรับในเครื่องออกไปด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากสินค้าดังกล่าว ควรมีโปรแกรมการเชื่อมต่อกับระบบคอมพิเตอร์รวมอยู่ด้วย


14.ในเมื่อไมโครโฟนของจริงนั้นตั้งอยู่ในห้องประชุม ครม.เรียบร้อยแล้ว ก็แสดงว่ามีการตรวจรับงานติดตั้งและทดสอบระบบก่อนที่จะทำสัญญา จึงควรตรวจสอบต่อไปว่า ใครเป็นผู้ลงนามรับของจากเอกชน ลงนามในใบส่งของชั่วคราวใช่หรือไม่ และใครเป็นกรรมการในเรื่องนี้บ้าง


15.ควรเรียกให้เอกชนส่งมอบเอกสารใบสั่งซื้อ ใบเสนอราคา หรือหลักฐานต่างๆ ที่ติดต่อกับเจ้าของสินค้าในต่างประเทศมาตรวจสอบอีกทางหนึ่ง เพื่อจะได้รู้ช่วงเวลาว่า เหตุการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับกรณีไมโครโฟนนั้น มีลำดับช่วงเวลากันอย่างไร ถ้าปรากฏว่า มีการสั่งของจากต่างประเทศก่อนที่ทางราชการจะมีสัญญาหรือออกเอกสารใดๆ ให้เป็นคำยืนยันว่าเอกชนรายนี้ได้งานแน่ๆ อาจมีคำถามต่อไปว่า ทำไมจึงมีเรื่องความไม่สุจริตและโปร่งใสเกิดขึ้นในทำเนียบรัฐบาลได้

-----------------

ส่วนประเด็นอื่น ๆ ที่นายเรืองไกรถาม ทางฝ่ายผู้รับผิดชอบเรื่องก็ควรออกมาตอบให้ชัดเจน แต่ถ้ามันมีปัญหามากนัก ก็เลิกใช้ของแพงแบบนี้ไปซะ ดีไหม !!


เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า ก่อนเกิดเรื่องไมค์ราคาแพง ตัวแทนจำหน่ายไมค์รุ่นใกล้เคียงกันที่สุดขายที่ราคา 99,000 บาท แต่พอเกิดเรื่องนี้ขึ้นมา เว็บตัวแทนจำหน่ายก็รีบไปแก้ราคาเป็น 199,000 บาทแทน

ราคาก่อนเกิดเรื่อง (คลิกที่รูปเพื่อขยาย)



ราคาหลังเกิดเรื่องแล้ว ถูกแก้ไขให้แพงขึ้น (คลิกที่รูปเพื่อขยาย)


ล่าสุด ข่าววันที่ 8 ก.ย. 57 ช่อง 3 ได้รายงานว่า

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ยืนยันว่า "ขณะนี้ยังไม่มีการลงนามสัญญาจัดซื้อจัดจ้างเพื่อติดตั้งระบบเครื่องเสียง ยังอยู่ในขั้นตอนการต่อรองราคากับเอกชน จนกว่าจะได้ระดับราคาที่เหมาะสม และต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ ทั้งนี้เหตุผลที่ต้องใช้การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ เพราะมีเวลาปรับปรุงเพียง 40 วัน และต้องการระบบเครื่องเสียงที่ดี เพราะทำเนียบรัฐบาลเป็นที่ประชุมสำคัญสูงสุดระดับชาติ จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูล"


---------------------

อัพเดทข่าว 10 ก.ย. 2557

ไมโครโฟน ห้องประชุม ครม. เจรจาต่อรองเหลือราคาตัวละ 94,250 บาทแล้ว จากราคาเดิม 145,000 บาท



หลังจากการตั้งข้อสังเกตถึงความเหมาะสมของราคาไมโครโฟน ที่ราคาตัวละ 145,000 บาท รวมถึงราคาจอพลาสม่า ในห้องประชุมคณะรัฐมนตรีที่มีการปรับปรุงใหม่ มีราคาที่ไม่เหมาะสม

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง พร้อมด้วยตัวแทนบริษัทนำเข้าอุปกรณ์ระบบโสตทัศนูปกรณ์ ร่วมแถลงข่าวยืนยันข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยนายมณฑล กล่าวว่า ราคาของไมโครโฟนที่ 145,000 บาท เป็นเพียงราคาประมาณการที่ตั้งขึ้นเพื่อขออนุมัติงบประมาณ แต่เมื่อมีการต่อรองราคาแล้ว ได้ข้อสรุปจัดซื้อในราคา 94,250 บาท โดยยืนยันว่ายังไม่มีการเบิกจ่ายเงินล่วงหน้า ร้อยละ 15 ตามที่ปรากฎเป็นข่าว เพราะยังไม่มีการลงนามในสัญญากับเอกชน

พร้อมยอมรับว่าบริษัทเอกชนได้ดำเนินการติดตั้งแล้วซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบการใช้งาน พร้อมชี้แจงเหตุผลในการจัดซื้อไมโครโฟนรุ่น DCNM-MMD ของบริษัท Bosch Security System เนื่องจากเป็นรุ่นล่าสุดและมีคุณภาพดีที่สุดในโลก ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานราชการใดในประเทศไทยติดตั้ง

ส่วนการติดตั้งจอพลาสมาในราคาที่สูง ว่าขณะนี้ได้ปรับเปลี่ยนเป็นการติดตั้งระบบ LED แทน เนื่องจากมีความคมชัดและมีราคาที่ต่ำกว่า โดยมีราคาจัดซื้อประมาณ 300,000 บาท แต่ยังไม่มีการสรุปตัวเลข เพราะอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองราคา

อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองยืนยันว่า การดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใส และพร้อมรับการตรวจสอบทั้งทางอาญาและทางวินัย หากพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น

ด้านนายชาญชัย ตันติราษฎร์ ผู้อำนายการฝ่ายโครงการ บริษัทอัศวโสภณ จำกัด ยืนยันว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง พยายามต่อรองราคาจัดซื้อไมโครโฟน จากราคาประมาณการ 145,000 บาท มาโดยตลอดจนได้ข้อสรุปที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับร่วมกัน

ไทยพีบีเอส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น