วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้ทรงช่วยลาวให้พ้นคำสาปเวียงจันทน์







เมื่อ 2 วันก่อน ผมเพิ่งได้ฟังเรื่อง คำสาปเวียงจันทน์ ทางวิทยุfm 100.5 ในขณะที่ผมกำลังขับรถ โดยอาจารย์ท่านนึงซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเทศลาวของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้เล่า

ขอบอกไว้ก่อนว่า เป็นเพียงความเชื่อของคนลาวผู้เฒ่าผู้แก่ในอดีต ซึ่งคนลาวยุคใหม่หลายคนอาจไม่ได้เชื่อเรื่องพวกนี้แล้วก็ได้

ผมขอเล่าที่มาที่ไป คำสาปเวียงจันทน์ โดยย่อนะครับ (หาอ่านเรื่องอย่างละเอียดนี้ได้ในเน็ต)

คือในสมัยโบราณเคยมีโขลงช้างป่านับแสนนับล้านตัว บุกเข้ามาทำลายทรัพย์สินเรือกสวนไร่นาในกรุงเวียงจันทน์ ก็ไม่มีใครสามารถขับไล่โขลงช้างป่าพวกนี้ออกจากกรุงได้

ทำให้พระเจ้ากรุงเวียงจันทน์จึงประกาศหาคนดีมีฝีมือมาปราบช้างป่าโขลงนี้

ก็ได้มี ท้าวศรีโคตรตะบอง บุรุษผู้มีความแข็งแกร่งที่สุดในปฐพี (แข็งยิ่งกว่าชัชชาติ) ก็ได้อาสามาปราบช้างป่าทั้งโขลงนั้น จนไล่ช้างป่าออกจากกรุงเวียงจันทน์ได้สำเร็จ

ภายหลังต่อมา พระเจ้ากรุุงเวียงจันทน์ก็เกิดมีคนยุยงว่า ให้ระวังท้าวศรีโคตรตะบองผู้นี้ไว้ เพราะมันอาจคิดช่วงชิงราชบัลลังค์ของพระองค์ได้

พระเจ้ากรุงเวียงจันทน์เลยคิดวางอุบายหาทางฆ่าท้าวศรีโคตรตะบองเสีย เพื่อตัดไฟเสียแต่ต้นลม

จนในที่สุดท้าวศรีโคตรตะบองก็หลงกลลวงของพระเจ้ากรุงเวียงจันทน์ จนถูกลอบทำร้าย

แต่ก่อนที่ท้าวศรีโคตรตะบองจะสิ้นใจตาย ก็เลยได้สาปแช่งแผ่นดินฝั่งโขงฝั่งนี้ว่า

"หากข้าเคยคิดคดชิงราชบัลลังค์จริง ก็ขอให้แผ่นดินนี้เจริญรุ่งเรือง แต่หากข้าไม่เคยคิดคดตามที่ถูกกล่าวหา ก็ขอให้แผ่นดินฝั่งโขงนี้จงฉิบหาย ทำมาหากินไม่ขึ้น ไม่มีวันเจริญสืบไป

แต่หากจะมีความเจริญบ้างก็มีแค่ช่วงเวลาช้างพับหูงูแลบลิ้นเท่านั้น และขอให้คำสาปนี้ดำรงอยู่ไปจนกว่า หินฟู(หินลอยน้ำ) งูใหญ่ พญาช้างเผือก จะปรากฎขึ้นบนแผ่นดินนี้แล้วเท่านั้น"

----------------

คำสาปเวียงจันทน์ ก็ดำรงสืบมาหลายร้อยปี แผ่นดินลาวก็ตกต่ำเรื่อยมา อาณาจักรล้านช้างก็เกิดความแตกแยก จนต่อมาต้องตกเป็นเมืองขึ้นของสยามบ้าง ของญวณบ้าง ของพม่าบ้าง

สุดท้ายลาวก็ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส และในที่สุดระบอบกษัตริย์ของลาวก็ล่มสลายลง เพราะภัยคอมมิวนิสต์เข้ายึดครอง

แม้ต่อมาประเทศลาวจะมีการพัฒนาบ้าง แต่ก็เจออุปสรรคปัญหามากมาย จนไม่เจริญเท่าที่ควร จนกลายเป็นประเทศล้าหลังสุด ๆ แห่งหนึ่งของโลก

จนกระทั่งรัฐบาลออสเตรเลียได้ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่รัฐบาลไทยและรัฐบาลลาว เพื่อสร้างสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งแรกขึ้นที่จังหวัดหนองคาย

ซึ่งสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งนี้ ก็จะมีรางรถไฟอยู่บนสะพานอีกด้วย ซึ่งถือเป็นทางรถไฟสายแรกของประเทศลาว

ซึ่งสะพานมิตรภาพไทยลาว ได้เปิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2537 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย ได้เสด็จพระราชดำเนินไปร่วมเปิดสะพาน กับ นายหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศลาว




ซึ่งหลังจากเปิดสะพานมิตรภาพไทยลาวแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จพระราชดำเนินข้ามไปเยือนประเทศลาวอีกด้วย ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 27 ปีของพระองค์ตามคลิปข่าวนี้



ว่ากันว่า ในตอนเริ่มแรกในหลวงยังทรงไม่ตัดสินพระราชหฤทัยว่า จะเสด็จฯ ข้ามฝั่งโขงหรือไม่ เพราะทรงเคยตั้งพระราชปณิธานว่า จะไม่ละทิ้งแผ่นดินไทยและคนไทยเพื่อเสด็จฯ ไปเยือนต่างประเทศอีกอยู่นานแล้ว

แต่ทางประธานประเทศลาวและรัฐบาลลาวได้พยายามส่งหนังสือกราบทูลเชิญ(ร้องขอ)อย่างเต็มที่เพื่อให้ในหลวงเสด็จฯ เยือนลาวอย่างเป็นทางการให้ได้

-----------------------

ในหลวงทรงช่วยลาวพ้นคำสาปเวียงจันทน์

คือคนลาวมีความเชื่อเรื่องคำสาปเวียงจันทน์นี้มานาน และจะพ้นคำสาปนี้ได้ต้องปรากฏเหตุ 3 สิ่งเกิดขึ้น นั่นคือ หินฟู งูใหญ่ พญาช้างเผือก

ซึ่ง หินฟู(น้ำ) คนลาวเขาตีความว่า คือ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ซึ่งเสมือนหินที่ลอยพ้นอยู่กลางลำน้ำโขง

พญาช้างเผือก คนลาวเขาตีความได้ว่า  คือ  พระมหากษัตริย์ไทยที่มาเยือนลาว เพราะในโลกยุคปัจจุบันนี้ ผู้ซึ่งทรงครอบครองช้างเผือกมากที่สุดในโลกมีเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ซึ่งก็คือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของไทย ซึ่งทรงเปรียบเสมือนเป็น เจ้าพระยาช้างเผือก 


ประธานประเทศลาวมอบช้างไม้แกะสลักให้ในหลวง


ส่วน งูใหญ่ คนลาวก็ตีความได้ว่า คือ ขบวนรถไฟมิตรภาพไทยลาว ซึ่งช่วงที่ในหลวงเสด็จฯ เส้นทางรถไฟสายนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่

ซึ่งต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ก็ได้เสด็จฯ ไปเปิดขบวนรถไฟแห่งแรกของลาวนี้ด้วย ในวันที่ 5 มีนาคม 2552 จึงเชื่อกันว่าได้ทำให้ สปป.ลาว จึงพ้นคำสาปเวียงจันทน์ได้โดยสมบูรณ์




รูปรถไฟข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว โดย http://peter-thomson.com


---------------

ความสัมพันธ์ ไทย - ลาว ดีขึ้นตามลำดับ

นับตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิลพอดุลยเดช ฯ ทรงขึ้นครองราชย์ พระองค์ก็ไม่มีโอกาสเสด็จฯ เยือนประเทศลาวเลยในช่วงที่ยังทรงเสด็จฯ เยือนเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับนานาอารยประเทศ

เพราะช่วงนั้นประเทศลาวมีปัญหาภายในอย่างมาก จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ไทย-ลาว เองก็เหมือนมีเรื่องบาดหมางระหองระแหงกันมาตลอด เหตุเพราะระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน หรืออย่างล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2531 ได้เกิดสมรภูมิบ้านร่มเกล้า ที่ไทยต้องมีปัญหาพิพาทชายแดนกับลาวค่อนข้างรุนแรง

แต่เมื่อมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวเกิดขึ้น จากที่ในหลวง ร.9 ไม่เสด็จฯ ออกนอกราชอาณาจักรไทยเลยมานานถึง 27 ปี ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยือน สปป.ลาว เป็นประเทศสุดท้ายในรัชสมัยของพระองค์

การเสด็จฯ เยือนประเทศลาวในครั้งนี้นี่เอง ที่ทำให้ประชาชนลาวรู้สึกปลื้มอกปลื้มใจ ดีอกดีใจเป็นที่สุด และนับแต่นั้นเป็นต้นมา ความสัมพันธ์มิตรภาพไทย-ลาวก็ดีขึ้นตามลำดับ

คลิป ในหลวงเสด็จฯ เยือนลาววันที่ 2 และในพิธีบายศรีสู่ขวัญ



ผมดีใจที่สุดที่ได้เกิดมาบนแผ่นดินของในหลวงรัชกาลที่ 9 ครับ

คลิกอ่าน เหตุผลที่ในหลวง ร.9 ไม่เสด็จฯ เยือนต่างประเทศอีก





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น