วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2560

นโยบายห่วยบัตรคนจน และ ประชานิยมต่างจากรัฐสวัสดิการอย่างไร







รัฐบาล คสช. เคยไม่เห็นด้วยกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะเรื่อง โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดตันละหมื่นห้า

แต่สุดท้ายรัฐบาล คสช. กลับห่วยเสียเอง ด้วยการออกนโยบายประชานิยม บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า บัตรคนจน

โดยรัฐบาลจะจ่ายคูปองเงินสดผ่านบัตรคนจนสำหรับใช้ซื้อสินค้าในวงเงิน 200-300 บาททุกเดือน (ผมคงไม่ลงรายละเอียดตรงนี้)

แต่ที่เรียกว่า ห่วยสุด ๆ บัดซบจริงเลย ก็คือ การเริ่มแจกรางวัลเงิน 1 ล้านบาทสำหรับคนจนผู้โชคดีที่ใช้จ่ายผ่านบัตรคนจนทุกเดือน ๆ ละ 1 ราย 1 ล้านบาทเริ่มตั้งแต่ ธ.ค.60 จนถึง พ.ค.61 นี่แหละ

ซึ่งแต่เดิมรัฐจะแจกรางวัลสำหรับผู้ใช้บัตรเดบิตเท่านั้น เพื่อส่งเสริมให้คนใช้บัตรเดบิตมากขึ้น แต่ตอนนี้กลับเพิ่มรางวัลมาแจกให้คนจนที่ใช้บัตรคนจนอีกด้วย

ผมว่า ไอ้คนที่คิดแจกรางวัลสำหรับคนจนเนี่ย มันคงใช้หัวแม่เท้าคิดแหง ๆ เพราะนี่คือนโยบายที่ทำร้ายสังคมโดยรวมแท้ ๆ

คือ แทนที่รัฐบาลจะนำเงินรางวัลส่วนนี้ไปแจกให้แก่คนที่เขาเสียภาษีเงินได้ประจำปี เพื่อจูงใจและเป็นขวัญกำลังใจให้กับคนที่เขาทำงานหนักจนได้สิทธิและหน้าที่เสียภาษีให้ประเทศชาติทุกปี

หรืออาจนำเงินรางวัลไปแจกให้กับห้างร้านรายใหม่ ๆ ที่เขาเพิ่งเข้าระบบภาษีนิติบุคคลในปีนั้น ๆ  เพื่อให้ห้างร้านเขามีกำลังใจในการทำงานหาเงินเพื่อมาเสียภาษีให้ประเทศชาติ

แต่รัฐบาลเฮงซวยดันคิดเอาเงินรางวัลไปแจกให้คนที่ไม่เคยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีซะฉิบ

แทนที่รัฐจะใช้นโยบายเงินรางวัลนี้เพื่อส่งเสริมคนที่เสียภาษีให้ประเทศชาติ แต่กลับเอาเงินรางวัลไปแจกให้คนที่เอาแต่รับของฟรีจากประเทศชาติแทน

การกระทำของรัฐบาล คสช. ผ่านนโยบายนี้ เป็นเสมือนนโยบายเอาเปรียบคนไทยที่เสียภาษีเงินได้ประจำปีชัด ๆ

อย่างผม เคยดูสกู๊ปข่าวช่อง 7 สีอันนึง ได้ไปสัมภาษณ์แม่ค้าคนนึง ว่าอยากเสนอแนะนำอะไรให้กับรัฐบาลในเรื่องบัตรคนจนบ้าง

แม่ค้ารายนี้ ตอบว่า "อยากให้รัฐเพิ่มเงินในคูปองอีกเป็น 500 - 700 บาทต่อเดือน จะได้มีเงินไปซื้อของได้เพิ่มขึ้น แค่เดือนละ 300 บาทมันน้อยไป "

ถถถ!!


-------------------

ถ้าตามหลักกฎของแรงดึงดูด

ใครที่มีบัตรคนจน ก็เสมือนคุณกำลังแช่งตัวเองให้ยากจนไปตลอดชาติ ถึงจะได้ของฟรีจากรัฐก็ตาม แต่คุณก็จะไม่มีวันร่ำรวยในชาตินี้ได้ง่าย ๆ หรอก ถ้ายังไม่เปลี่ยนวิธีคิดใหม่

เพราะถ้าบางคนเกิดร่ำรวยเกินกว่าข้อกำหนดของการได้รับสิทธิบัตรคนจนขึ้นมาเมื่อไหร่ เดี๋ยวอาจกลัวถูกริบสิทธิบัตรคนจนคืน

ดังนั้น หลายคนก็ต้องพยายามยากจนต่อไป หรือแกล้งจนต่อไป นั่นก็เท่ากับเป็นแช่งตัวเองโดยอ้อม แถมยังต้องหลอกตัวเองว่าเป็นคนจน เท่ากับเป็นการทำบาปทำกรรมด้วยการเอาเปรียบประเทศชาติไปตลอดชาติ

ลองคิดดูง่าย ๆ นะ

ถามว่า คุณอยากมีเงินจ่ายภาษีเงินได้ ฯ ให้ประเทศชาติอย่างน้อย ๆ ปีละ 1 แสนบาท หรือคุณอยากจะได้สิทธิรับคูปองเดือนละ 300 บาทจากบัตรสวัสดิการคนจน ?

-----------------------

ข้อคิดดี ๆ จากวาทกรรมของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ เคยกล่าวว่า "จงอย่าถามว่าประเทศชาติจะให้อะไรแก่ท่าน แต่จงถามตัวท่านเองว่าท่านจะทำอะไรให้ประเทศชาติ"


ส่วนคนไทยน่ะเหรอ มักจะคิดเอาแต่ได้ ที่ว่า "จงอย่าถามว่าฉันจะให้อะไรแก่ประเทศชาติ แต่ควรถามว่า รัฐบาลไหนจะแจกของฟรีให้ฉันบ้าง"

----------------------

นโยบายประชานิยม ต่างจาก นโยบายรัฐสวัสดิการ อย่างไร

การเป็นรัฐบาลที่ดีจะต้องส่งเสริมความเท่าเทียมกันในสังคม ด้วยการไม่แบ่งแยกชนชั้นฐานะของผู้คน ว่า คนนี้คนจน คนนี้คนรวย

นโยบายของรัฐบาลที่ดี ก็ต้องช่วยให้ประชาชนเข้าถึงนโยบายรัฐได้โดยเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการแบ่งแยกฐานะ ที่เรียกว่า รัฐสวัสดิการ ซึ่งจะจัดเก็บภาษีมากน้อยตามรายได้ของแต่ละบุคคลเพื่อมาสนับสนุนนโยบายรัฐสวัสดิการ

ไม่ใช่คิดสร้างนโยบายที่แบ่งแยกแบ่งชนชั้นของผู้คนในสังคม อย่างเช่น นโยบายนี้ใช้ได้เฉพาะคนจนเท่านั้น ส่วนคนรวยไม่มีสิทธิใช้นโยบายนี้

เพราะนโยบายที่สร้างความแตกแยก แบ่งชนชั้นของคนในสังคม จัดเป็นนโยบายประชานิยม เพราะเป็นการแจกให้เฉพาะกลุ่ม


แยกแยะนโยบายต่าง ๆ นโยบายไหนคือประชานิยม นโยบายไหนคือรัฐสวัสดิการ

1. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นโยบายนี้เริ่มต้นขึ้นในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ จัดเป็นนโยบายรัฐสวัสดิการ เพราะทุกคนในประเทศไทยที่เป็นผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุที่ร่ำรวย หรือยากจน ก็มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพนี้โดยเท่าเทียมกัน ไม่เกิดการแบ่งแยกชนชั้น

แต่ถ้าผู้สูงอายุท่านใด รวยแล้ว อยากจะสละสิทธิรับเงินส่วนนี้จากรัฐ ก็สามารถสละสิทธินี้ได้ โดยต่อไปรัฐบาลจะมอบประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณในความเสียสละของท่าน


2. นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค หรือ "หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" นโยบายนี้เริ่มขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จัดเป็นนโยบายรัฐสวัสดิการ เพราะคนไทยทุกคนที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลเช่น สิทธิข้าราชการ หรือสิทธิประกันสังคม ก็สามารถเข้าถึงสิทธิรักษาฟรีของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ทุกคน

ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือเป็นคนรวย ทุกคนก็สามารถเข้าถึงสิทธิประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ได้อย่างเท่าเทียมกัน เพียงแต่ว่า คนรวยบางคนเขาอาจเลือกที่จะไม่ใช้สิทธินี้ก็ได้


3. นโยบายรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี เริ่มขึ้นในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช จัดเป็นนโยบายรัฐสวัสดิการ เพราะไม่ว่าคนไทยคนใด จะยากดีมีจน ก็มีสิทธิใช้บริการรถไฟฟรี และรถเมล์ฟรี ได้โดยเท่าเทียมกัน

แต่รัฐบาลเผด็จการเฮงซวย ดันยุบนโยบายนี้เพื่อเปลี่ยนไปเป็นแจกคูปองขึ้นรถเมล์ฟรีและรถไฟฟรีในบัตรคนจนแทน เท่ากับเป็นเลือกให้เฉพาะกลุ่มให้ได้สิทธิใช้บริการนี้ฟรี ๆ จึงจัดเป็นนโยบายที่ไม่เท่าเทียมกัน ถือเป็นนโยบายประชานิยมที่แจกเฉพาะกลุ่มคนเท่านั้น


4. นโยบายโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดตันละหมื่นห้าพันบาท เป็นนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จัดเป็นนโยบายประชานิยม เพราะเลือกช่วยเฉพาะชาวนาเท่านั้น แถมใช้เงินหมดไปกับโครงการนี้ฤดูกาลละไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้าน

ด้วยการรับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาแพงเกินความเป็นจริง จนข้าวไทยขายไม่ออกในตลาดโลก เพราะไม่มีใครเขาอยากจะซื้อ ทำให้รัฐบาลเกิดความเสียหายทางงบประมาณอย่างมาก

ทำให้ทุกวันนี้รัฐบาลยังต้องแบ่งงบประมาณในแต่ละปี เพื่อไปจ่ายหนี้จากโครงการรับจำนำข้าวปีละหลายหมื่นล้านบาท ให้แก่วงเงินกู้ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กู้มาจาก ธกส.


5. นโยบายค่าเล่าเรียนฟรี หนังสือเรียนฟรี เป็นนโยบายในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งให้โอกาสเด็กไทยทุกคนที่สามารถเข้าเรียนโรงเรียนรัฐได้ มีสิทธินี้อย่างเท่าเทียมกัน จึงจัดเป็นนโยบายรัฐสวัสดิการ


6. นโยบายแจกเช็คช่วยชาติ 2 พันบาท เป็นนโยบายของรัฐบาลอภิสิทธิ์ จัดเป็นนโยบายประชานิยม เพราะแจกเฉพาะกลุ่ม แต่ยังดีที่เป็นแค่นโยบายชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น (ซึ่งผมก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายประเภทนี้นัก)


7.  นโยบายบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย หรือบัตรคนจน เป็นนโยบายของรัฐบาล คสช. จัดเป็นนโยบายประชานิยมชัดเจน

เป็นนโยบายที่แบ่งแยกชนชั้นทางสังคมให้คนไทย ว่า นี่คือนโยบายเฉพาะคนจนที่ใช้บัตรนี้ได้เท่านั้น ส่วนคนรวยไม่มีสิทธิใช้บัตรนี้ และยังเป็นนโยบายที่ไม่มีกำหนดหมดอายุโครงการด้วย จึงเป็นการสร้างภาระทางงบประมาณของรัฐในระยะยาว

ถือเป็นนโยบายที่ส่งเสริมให้คนไทยคิดแต่เอาของฟรีจากประเทศชาติ ซึ่งเป็นการบ่มเพาะความเห็นแก่ตัวของประชาชนโดยอ้อม เพราะลองถ้ารัฐบาลไหนคิดจะยกเลิกโครงการนี้สิ เดี๋ยวมีออกมาโวยวายแน่ ๆ

--------------------

รัฐควรสนับสนุนรางวัลให้คนไทยที่เคารพกฎหมายซะยังดีเสียกว่า

แม้แต่การเคารพกฎหมายขั้นพื้นฐาน เช่น การเคารพกฎจราจรและเคารพวินัยการจราจร สถิติที่ของผู้ที่โดนจับบ่อยที่สุดในเรื่องกฎหมายจราจร ก็คือคนจนนี่แหละครับ

ถ้าจะบอกว่า ก็เพราะคนจนคือคนส่วนใหญ่ในประเทศนี่นา การถูกจับมากที่สุดก็ไม่เห็นจะแปลก

จะว่าอย่างนั้นก็ใช่ครับ

แต่ถ้าเราลองคิดในมุมกลับอีกที ถ้าคนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่เคารพกฎหมายบ้านเมือง เช่น กฎหมายขั้นพื้นฐานง่าย ๆ อย่างกฎหมายจราจร

ถ้าคนจนหรือคนส่วนใหญ่ของประเทศยังเป็นประชากรที่ด้อยคุณภาพ ที่ยังไม่มีจิตสำนึกเรื่องการรักษาระเบียบวินัย ยังไม่ทำหน้าที่ประชากรที่ดี ยังทำผิดกฎหมายจราจร แล้วต้องไปเสียค่าปรับครั้งละ 200-1000 บาทเป็นอย่างต่ำ

สมควรแล้วหรือที่คนทำผิดกฎหมายจราจรเหล่านี้จะได้รับสิทธิพิเศษเพิ่มจากรัฐ ?

ที่จริงน่าจะกำหนดให้ คนที่มีบัตรคนจนที่ทำผิดกฎหมายจราจร ควรโดนตัดเงินคูปองในบัตรคนจนไปสัก 3 เดือนเป็นอย่างน้อย

ซึ่งถ้ารัฐบาลยังจะส่งเสริมคนจนที่ไม่รู้จักในหน้าที่ของพลเมืองดีเหล่านี้ ให้ได้สิทธิรับของฟรีมากขึ้น โดยที่ไม่เคยตระหนักถึงการทำหน้าที่ของพลเมืองที่ดีแล้ว

มันก็จะคล้ายกรณี พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบตามใจ ทั้งที่ลูกยังไม่ทันจะตั้งใจเรียนให้ดี แต่พ่อแม่ก็รีบประเคนของเล่นให้ลูกไปก่อนแล้ว

ไม่มีประเทศที่เจริญแล้วที่ไหนหรอก ที่มีนโยบายส่งเสริมให้คนในประเทศอยากเอาเปรียบประเทศชาติกันแบบนี้หรอกครับ

อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เขาช่วยเหลือคนตกงาน คนจรจัด เขายังไม่ได้ให้กันง่าย ๆ ฟรี ๆ แบบประเคนของฟรีไปให้ถึงบ้านแบบรัฐบาลไทยเลยครับ

คงมีแต่ประเทศที่มีรัฐบาลเฮงซวยเท่านั้นแหละที่คิดออกนโยบายเยี่ยงนี้

หมายเหตุ แต่ทุกโครงการที่กล่าวมา ที่จริงไม่ควรให้ฟรี 100 % ควรให้ประชาชนช่วยออกค่าใช้จ่ายช่วยในรัฐสวัสดิการต่าง ๆ ด้วย โดยรัฐช่วยออกค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ แล้วให้ประชาชนเข้าถึงรัฐสวัสดิการได้ในราคาถูก แต่ต้องมีคุณภาพ

การให้ใช้สิทธิฟรีในบางอย่าง หากให้ฟรีมากเกินไป มันก็จะเข้าใกล้ความเป็นประชานิยม ซึ่งมันเป็นภาระและอันตรายต่อประเทศชาติในระยะยาว

---------------------

แทนที่รัฐบาลจะนำเงินส่วนนี้ไปปรับปรุงนโยบายรัฐสวัสดิการที่มีอยู่ให้ดีขึ้น กลับเอาเงินไปแจกให้ประชาชนได้ง่าย ๆ ฟรี ๆ โดยไม่ต้องทำงานแลกมา

เปรียบเสมือนรัฐบาลแจกปลาให้ประชาชนกินฟรี แต่กลับไม่สอนให้ประชาชนเลี้ยงปลาให้เป็น

แทนที่จะนำเงินส่วนนี้ไปจ้างงานให้ประชาชนที่เขาขยันทำงานพิเศษในภาครัฐเพิ่มขึัน ดันเอาเงินมาแจกฟรี ๆ ง่าย ๆ

บอกตรงครับ ที่ประเทศไทยไม่เจริญเท่าประเทศอื่น ๆ จนหลายประเทศเขาแซงหน้าประเทศไทยเราไปจนหมด ก็เพราะไทยเรามีรัฐบาลเฮงซวยชอบแจกประชานิยมจนประชาชนโง่ลง แล้วไม่รู้จักโตนี่แหละครับ

ตัวอย่างง่าย ๆ ประเทศมาเลเซียเขาเลิกอุดหนุนราคาพืชผลทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรของเขามาเกือบ 20 ปีแล้วครับ 

แต่ประเทศไทยยังดักดานอุ้มราคาพืชผลทางการเกษตรหลายชนิดอยู่เลย

สรุป รัฐบาล คสช. กำลังตอแหลว่า บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย เป็นนโยบายรัฐสวีสดิการ ทั้งที่จริงมันคือ นโยบายประชานิยม !!

และผมขอเรียกบัตรนี้เสียใหม่ว่า บัตรส่งเสริมคนจน !!

----------------------

รางวัล 1 ล้านแรกของผู้ใช้บัตรคนจน



ผมขอแสดงความยินดีด้วยครับ ที่คุณป้าได้รางวัล 1 ล้านบาท

ว่าแต่ตอนนี้ป้าคงไม่ใช่คนจนแล้วสินะ

เพราะคนจนต้องมีเงินเก็บทุกรูปแบบไม่เกิน 1 แสนบาท ตามข้อกำหนดของการรับสิทธิบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น