วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ใครกู้ IMF ใครปลดแอก IMF ใครผลาญเงินเอาหน้า ?






เกริ่น

ประเด็นสำคัญของเนื้อหาในบทความนี้คือ

1. รัฐบาลที่ไปทำสัญญากู้เงิน IMF คือ รัฐบาลชวลิต ที่มีทักษิณ ชินวัตร เป็นรองนายกฯ

2. รัฐบาลชวน หลีกภัย เริ่มทยอยใช้หนี้ IMF ไปบางส่วนตามกำหนด และต่อมาเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว ทำให้รัฐบาลชวนตัดสินใจไม่กู้เงินจากไอเอ็มเอฟให้เต็มวงเงินกู้ที่ทำไว้ในสัญญา จึงทำให้ระยะเวลาชำระหนี้สั้นลงและเร็วกว่ากำหนดเดิม 1 ปี

3. รัฐบาลทักษิณเข้ามาใช้หนี้ IMF ตามหน้าที่ต่อจากรัฐบาลชวน แต่สุดท้ายทักษิณกลับไปกู้เงินจากธนาคาร ADB ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ย IMF หลายเท่า เพื่อนำมาใช้หนี้ IMF แต่ใช้หนี้เร็วกว่าเดิมแค่ไม่กี่เดือน เพื่อหวังเอาหน้า แต่กลับทำให้ไทยต้องเสียเงินมากขึ้นโดยใช่เหตุ

ส่วนรายละเอียดในเรื่องนี้ มีอยู่ในบทความด้านล่าง

--------------------------

(บทความยาวมาก ขอเตือน)

เถียงกันไปกันมา ต่างฝ่ายก็ต่างเชื่อในสิ่งที่ตัวเองอยากเชื่อ ฝ่ายฟายแดงเชื่อว่า ประชาธิปัตย์ไปกู้ไอเอ็มเอฟ และทักษิณคือคนใช้หนี้ไอเอ็มเอฟจนหมด ดังนั้นเรามาค่อย ๆ ดูความจริงทีละส่วน

ใครเป็นขอกู้ IMF ?

ตอบ รัฐบาลชวลิตเป็นผู้กู้IMF ในปี 1997 หรือพ.ศ. 2540 โดยนายทนง พิทยะ รมว.คลังในสมัยนั้น (และมีทักษิณ ชินวัตร เป็นรองนายกฯ ในสมัยนั้นด้วย) ตามเอกสารข้างล่างนี้




ฉะนั้นประเด็นใครกู้ไอเอ็มเอฟ คงเคลียร์แล้วนะครับ เอกสารจาก IMF ยืนยันความจริง


-------------

ใครปลดแอก IMF ?

คำตอบนี้ผมอยากให้คุณผู้อ่านอ่านบทความด้านล่างนี้โดยละเอียดก่อน และผมมีคำอธิบายแบบที่คุณคาดไม่ถึงในตอนท้ายอีกครั้ง


วิวาทะ "ปลดแอก" ไอเอ็มเอฟ
โดย นงนุช สิงหเดชะ 

ไม่มีปี่มีขลุ่ย และดูเหมือน "ผิดจังหวะ" เพราะเลยไคลแม็กซ์ไปแล้ว กรณีที่ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพิ่งโผล่ออกมาตอบโต้เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา เรื่องที่ว่าใครกันแน่เป็นผู้ "ปลดแอก" ไทยออกจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ทำเอาหลายคนยังงงๆ อยู่เหมือนกันว่าทำไม "ประชาธิปัตย์" ช้าอีกแล้ว ไหนว่า "ปรับปรุงยุทธศาสตร์" ภายใต้ปฏิบัติการ "หัวหิน" ที่เป็นโฉมใหม่ของพรรคไปแล้ว

ไคลแม็กซ์และจุดเหมาะสมในการตอบโต้เรื่องนี้น่าจะอยู่ในช่วงวันที่ 1 หรือ 2 สิงหาคม เนื่องเพราะ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2546 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจอย่างยิ่งใหญ่ ประกาศว่า รัฐบาลได้ชำระหนี้ก้อนสุดท้ายประมาณ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 60,000 ล้านบาทให้กับไอเอ็มเอฟไป ความและนัยก็คือการแสดงและป่าวประกาศว่ารัฐบาลไทยรักไทยเป็นผู้ "ปลดแอก" ไทยออกจากไอเอ็มเอฟนั่นเอง

การเลือกวันที่ 31 กรกฎาคม ดูแล้วเหมือนจงใจหวังผลทางการเหมือนอยู่เหมือนกัน เพราะถึงแม้รัฐบาลจะเคยพูดไว้ล่วงหน้าเป็นเดือนๆ แล้วว่า จะชำระหนี้ก้อนสุดท้ายให้ไอเอ็มเอฟในเดือนกรกฎาคม แต่ก็ไม่คาดคิดว่า จะเลือกใช้วิธีการถึงกับออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจอย่างยิ่งใหญ่ และที่สำคัญในวันรุ่งขึ้นนั้นเป็นวันที่ 1 สิงหาคม ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้กำหนดให้เป็น "ดีเดย์" ในการประกาศยุทธศาสตร์ "ปฏิบัติการหัวหิน" ดูแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่านี่เป็นการฉวยจังหวะ "ช่วงชิง" โอกาส ตัดหน้าความแรงความดังการแถลงข่าวของประชาธิปัตย์ในวันที่ 1 สิงหาคมนั่นเอง

หลายฝ่ายนึกในใจว่า ประชาธิปัตย์คงจะออกมาตอบโต้อย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง ตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 31 กรกฎาคม หลังจากที่นายกฯออกทีวีเสร็จแล้ว แต่ก็ปรากฏว่ามีแต่ "มวยรอง" เท่านั้นที่ออกมาตอบโต้แบบ "หมัดไม่หนัก ไม่ตรงเป้า" ไร้วี่แววระดับปรมาจารย์ อย่าง นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี หรือ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับไอเอ็มเอฟ)

การชี้แจงของ นายสรรเสริญ สมะลาภา ทีมเศรษฐกิจของประชาธิปัตย์ในวันนั้น บอกแต่เพียงว่า การที่รัฐบาลไทยรักไทยสามารถชำระหนี้ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์นั้น กู้เงินไอเอ็มเอฟมาไม่เต็มจำนวน คือจาก 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กู้เพียงเกือบ 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีส่วนที่ไม่ได้กู้และไม่ต้องใช้หนี้เกือบ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่สิ่งที่นายสรรเสริญไม่ได้ย้ำ และพลาดในประเด็นสำคัญ ที่จะตอบโต้กับพรรคไทยรักไทยได้อย่างจะแจ้ง อันจะทำให้สาธารณชนเข้าใจดียิ่งขึ้นก็คือ ประเด็นที่ว่า ประเทศไทยเลิกกู้เงินจากไอเอ็มเอฟตั้งแต่ปี 2543 หรือตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์แล้ว ดังนั้นเมื่อเลิกกู้เงินก็ถือว่าเป็นการ "ปลดแอก" ไปตั้งแต่ช่วงนั้นแล้ว เพราะเมื่อไม่กู้ก็ไม่ต้องทำหนังสือแสดงเจตจำนง ก็ไม่ต้องมีภาระผูกพัน

ตามระเบียบแล้วเมื่อเราจะกู้เงินไอเอ็มเอฟแต่ละงวด จะต้องมีการเขียนหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) เพื่อขอรับความช่วยเหลือทั้งทางการเงิน และทางวิชาการ ซึ่งหนังสือแสดงเจตจำนงนี่เอง คือสิ่งที่แสดงความยินยอม ให้ไอเอ็มเอฟเข้ามาดำเนินการ หรือแทรกแซงนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ผู้ขอรับความช่วยเหลือ ซึ่งการแทรกแซงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะไอเอ็มเอฟมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ที่ต้องมั่นใจว่า เมื่อกู้ยืมไปแล้วลูกหนี้จะมีความสามารถ ในการชำระหนี้หรือไม่ เหมือนเวลาเราไปกู้แบงก์ทั่วไป ที่ธนาคารก็จะต้องประเมินสถานการณ์ทุกด้านของลูกค้า ขอดูแผนการใช้เงินและแผนธุรกิจของลูกค้า

เมื่อจะกู้เงินแต่ละงวดก็ต้องทำหนังสือแสดงเจตจำนงเป็นครั้งๆ ไป โดยก่อนที่ไอเอ็มเอฟจะปล่อยกู้งวดต่อไป ก็จะต้องมีการพิจารณาทบทวนว่า เราสามารถทำตามเงื่อนไข ในหนังสือแสดงเจตจำนงฉบับก่อนๆ หรือไม่ รวมแล้วไทยทำหนังสือแสดงเจตจำนงถึงไอเอ็มเอฟ 5 ฉบับ ผู้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงฉบับแรกคือ นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยนั้น ส่วนนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นผู้ลงนามตั้งแต่ฉบับที่ 2 เป็นต้นไป

ต้องขอทบทวนความทรงจำกันว่า ไทยประกาศปล่อยเงินบาทลอยตัวเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เพราะเกิดภาวะถังแตกแล้ว เนื่องจากใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศเกือบหมดเกลี้ยง คือจาก 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือเพียง 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่าเมื่อปล่อยลอยตัวแล้ว ค่าเงินบาทจะอ่อนตัวลงจาก 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ไปอยู่ที่ระดับ 31-32 บาท หรืออย่างมากไม่เกิน 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นภาวะที่ภาคเอกชนที่กู้หนี้จากต่างประเทศสามารถรับมือได้ แต่ปรากฏว่าสถานการณ์ร้ายแรงเกินกว่าจะคาดคิด เงินบาทไหลไม่หยุด รูดไปถึง 56 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จนเจ๊งกันทั้งประเทศ

ไทยเซ็นเข้ารับความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟเมื่อ 14 สิงหาคม 2540 ในขณะนั้นมี นายทนง พิทยะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบัน เป็นเลขานุการของนายทนง ดังนั้นเงื่อนไขผูกพันต่างๆ ที่ไทยไปทำไว้กับไอเอ็มเอฟในช่วงแรก จึงเกิดขึ้นในช่วงที่นายทนงเป็น รมว.คลัง ภายใต้การกำกับดูแล ของนายวีรพงษ์อีกชั้นหนึ่ง

ซึ่งก็เป็นที่ทราบว่าเงื่อนไขที่ทำไว้นั้นเข้มงวดมากจนบีบให้เศรษฐกิจหดตัว ซึ่งนายวีรพงษ์ก็บ่นว่าไม่สามารถต่อรองกับไอเอ็มเอฟได้ เพราะไอเอ็มเอฟมองมิติเดียว คือมองอย่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ไม่ได้คิดจะช่วยให้ไทยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งอันนี้ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เป็นเพราะไอเอ็มเอฟมองมุมเดียวจริงหรือว่าเราไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะไปโน้มน้าวหรือกล่อมให้ไอเอ็มเอฟคล้อยตามได้

ในคำชี้แจงของนายธารินทร์เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมนั้น นายธารินทร์ยืนยันว่า รัฐบาลประชาธิปัตย์ เป็นผู้สามารถเจรจาโน้มน้าว ให้ไอเอ็มเอฟผ่อนคลายความเข้มงวดทางนโยบายเศรษฐกิจ กล่าวคือการผ่อนคลายเรื่องอัตราดอกเบี้ยสูง การยอมให้ขาดดุลงบประมาณ เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัว และฟันธงยืนยันว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์เป็นผู้ "ปลดแอก" ไทยจากไอเอ็มเอฟอย่างแท้จริง

การชี้แจงและตอบโต้ไม่ทันสถานการณ์ในครั้งนี้ อาจเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ประชาธิปัตย์ยังขาดเอกภาพภายในพรรค ในเรื่องการเตรียมการต่างๆ โดยเฉพาะการตอบโต้ที่หนักแน่น และทันสถานการณ์ หากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ ก็คงสู้พรรคไทยรักไทย ได้ลำบากในเรื่องการตีปี๊บหรือตีฆ้องร้องป่าว เพราะสังคมในปัจจุบันมันเป็นโลกกว้าง และค่านิยมเรื่องปิดทองหลังพระของคนเรา ก็เปลี่ยนไป ถ้ามีผลงานแล้วไม่รู้จักประโคม แม้ความสามารถจะเท่าคนอื่น แต่ไม่มีการป่าวประกาศดังๆ ก็ไม่สามารถอยู่ในความสนใจของคนได้

ว่าอันที่จริงหากกล่าวเฉพาะในบริบทผลงานในด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลนายชวน ที่มีนายธารินทร์เป็นขุนคลัง ก็มีผลงานที่ไม่ขี้เหร่นัก โดยในปี 2542 สามารถดึงเศรษฐกิจให้พ้นจากภาวะติดลบ ในระดับ 12 เปอร์เซ็นต์ กลับมาเป็นบวกที่ 4.4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปี 2543 เติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 4.6 เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากประชาธิปัตย์ได้มีโอกาสเป็นรัฐบาลต่อ ก็ไม่แน่ว่า อาจจะสานต่อเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ก็ได้ ไม่แพ้ฝีมือของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

นายธารินทร์มารับตำแหน่ง รมว.คลังในเดือนพฤศจิกายน 2540 ใช้เวลาราว 1 ปีครึ่ง ก็สามารถดึงเศรษฐกิจจากติดลบ กลับมาเป็นบวก หากจะให้ความเป็นธรรมก็ต้องถือว่า เป็นสิ่งที่สังคมควรจะให้กำลังใจด้วยเช่นกัน และไม่ควรถูกลืม (อันนี้รวมถึงกรณีอื่นๆ ด้วยไม่เฉพาะกรณีนายธารินทร์) และว่ากันตามจริงแล้ว ภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้นสาหัสมาก กล่าวไปแล้วรัฐบาลนายชวนก็ต้องถือว่าเหนื่อยกว่ารัฐบาลนี้หลายเท่า เหมือนเล่นกอล์ฟเป็นมือรองมากๆ แถมไม่มีแต้มต่อ แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามาในช่วงที่ฐานเศรษฐกิจดีอยู่แล้ว ถือว่ามี "แต้มต่อ" ทำงานขยายเศรษฐกิจได้สบายกว่ามาก

จุดเสียของนายชวนคือ พูดน้อย ไม่รู้จักโฆษณาตัวเอง ส่วนนายธารินทร์ก็ถูกมองว่าดื้อรั้น เชื่อมั่นตัวเองสูง ไม่ฟังใคร เหมือนบุคลิกของ พ.ต.ท.ทักษิณในขณะนี้ แต่ในเงื่อนสถานการณ์ปัจจุบันกลายเป็นว่าสังคมชื่นชอบบุคลิกแบบ พ.ต.ท.ทักษิณ(อันนี้ไม่ได้ต้องการชี้ว่าถูกหรือผิด) ซึ่งก็เป็นปรากฏการณ์ที่น่าศึกษาสำหรับผู้ที่จะเข้ามาเล่นการเมือง

หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเขียน เพื่อจะชี้ว่า นักการเมืองจะห้ำหั่นกันอย่างไร จะต้องมีจริยธรรม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือรัฐบาล เรื่องปลดแอกไอเอ็มเอฟก็เช่นกัน หากจะ "วิวาทะ" กัน ก็อย่าให้เป็นประเภทดีใส่ตัว ชั่วใส่คนอื่น พูดความจริงครึ่งเดียว ชักนำสาธารณชนไปในทางที่ผิด เพื่อประโยชน์ของตัวเอง และต้องตระหนักว่า ประเทศไทยอยู่กันมาได้ทุกวันนี้ไม่ใช่มีใครเป็นพระเอกอยู่คนเดียว


มติชนรายวัน วันที่ 26 สิงหาคม 2546

-----------------------

รัฐบาลทักษิณกู้เงินจากธนาคาร ADB มาใช้หนี้ไอเอ็มเอฟ

ซึ่งตอนก่อนที่ไทยจะใช้หนี้ไอเอ็มเอฟ IMF คิดดอกเบี้ยจากไทยที่ 2.23% ต่อปี (อัตรา SDR ในเดือนสิงหาคม 2545 อยู่ที่ 2.23% ที่มาธปท. ) ไม่ใช่แค่ 0.25 % ตามที่โลกออนไลน์แชร์กัน

แต่รัฐบาลทักษิณกลับไปกู้เงินจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ ADB (Asian Development Bank) เพื่อนำมาเงินกู้นี้มาใช้หนี้ไอเอ็มเอฟให้หมด ซึ่ง ADB นั้นมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก คือดอกเบี้ย ADB จะอยู่ที่ประมาณ 6% ถึง 10% แล้วแต่ข้อตกลงในแต่ละโครงการของแต่ละประเทศ

(อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของ ADB อิงอัตราดอกเบี้ย Libor+ ของ London Interbank)

แปลว่า รัฐบาลทักษิณกู้เงินจาก ADB ในอัตราดอกเบี้ยสูงอย่างน้อย 6% ต่อปี เพื่อมาใช้หนี้เงินกู้ไอเอ็มที่คิดดอกเบี้ยแค่ 2.23 ต่อปีเท่านั้น แบบนี้ถือว่า รัฐบาลทักษิณทำให้ประเทศไทยเสียเงินมากกว่าโดยใช่เหตุ (หากมีเอกสารว่าไอเอ็มเอฟยอมลดดอกเบี้ยให้ไทยเหลือ 0.25 % ต่อปีจริง ทักษิณก็ยิ่งผิดมากขึั้น)

แถมการที่จ่ายเงินกู้ไอเอ็มเอฟครบก่อนกำหนดจะต้องถูกปรับ 2% ของเงินกู้IMFที่เหลือ ซึ่งทำให้ไทยโดยไอเอ็มเอฟปรับไปอีก ประมาณ4 พันล้านบาท!! (เดี่ยวตรงเรื่องค่าปรับนี้มีพลิกล็อคครับ อ่านต่อไปเรื่อย ๆ ก่อน)


ให้ดูรูปอธิบายอย่างง่ายจากคุณสมจิตต์ นวเครือสุนทร ไปก่อน




--------------------

นายวราเทพ รัตนากร ยอมรับกลางสภาเอง ทักษิณกู้เงิน ADB มาใช้หนี้ IMF และมีการโดนปรับจริง 

แต่นายวราเทพ อ้างว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ของ ADB ถูกกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ IMF และการถูกปรับจากไอเอ็มเอฟนั้น เกิดขึ้นจริง แต่การใช้หนี้และกู้มาจ่ายไอเอ็มเอฟ ไม่มีทางขาดทุนกว่าเดิมแน่นอน

โดยนายวราเทพ อ้างว่า มีเอกสารยืนยันว่า ดอกเบี้ยที่ทักษิณไปกู้ ADB ถูกและประหยัดกว่าแน่นอน เมื่อนำมาใช้หนี้ไอเอ็มเอฟก่อนกำหนด

แต่จนถึงวันนี้ ก็ไม่เคยเห็นนายวราเทพ เอาเอกสารที่ว่ามีมาเปิดเผยแต่อย่างใด

ไปฟังครับ




คุณผู้อ่าน ลองไปที่เว็บ ADB เองเถิด แล้วหาดูว่าดอกเบี้ยของ ADB สูงกว่าไอเอ็มเอฟ หรือไม่

เพราะการหาเองข้อมูลเอง ย่อมดีกว่า เชื่อที่ผมบอกทุกเรื่อง จริงไหม ?

แต่เท่าที่หาเจอ มีผู้รู้บอกว่า ADB มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณ 8 % ในขณะนั้น

-------------------

ใหม่เมืองเอก อธิบายเพิ่มเติม

ยอดเงินกู้ที่ไทยขอกู้จากไอเอ็มเอฟและธนาคารอื่น ๆ มียอดวงเงินเต็ม ๆ คือ 17,200 ล้านดอลล่าห์ แต่ไทยกลับกู้แค่เพียง 14,300 ล้านดอลล่าห์เท่านั้น จึงเหลือยอดที่ไม่ได้กู้ประมาณ 3,000 ล้านดอลล่าห์

ผมมีข้อสงสัยคือ เมื่อไทยจ่ายเงินกู้ไอเอ็มเอฟก่อนกำหนด ทำไมไอเอ็มเอฟถึงมาคิดค่าปรับ 2 %ในส่วนเงินที่ัตัวเลข4,800 ล้านดอลล่าห์ ?? ตามที่รูปคุณสมจิตต์อ้าง

นั่นแสดงว่า การที่ทักษิณใช้หนี้ไอเอ็มเอฟก่อนกำหนดที่เหลือ 60,000ล้านบาท (หรือประมาณ1,460ล้านดอลล่าห์เท่านั้น ไม่ใช่ยอดเหลือ 4,800ล้านดอลล่าห์ตามที่มักอ้างกัน) ในส่วนยอดเงินที่กู้มาแล้วยังค้างอยู่ จึงไม่น่าเกี่ยวกับการโดนปรับเงินจากไอเอ็มเอฟ 2%

แต่การที่ไอเอ็มเอฟปรับไทย เป็นเพราะไทยไม่ยอมกู้เงินให้เต็มวงเงินที่ทำเรื่องขอกู้ไว้ 17,200ล้านดอลล่าห์ตั้งแต่ต้นต่างหาก ซึ่งตรงนี้ไอเอ็มเอฟจึงถือว่า เขาเสียผลประโยชน์ไป

เพราะเงื่อนไขไอเอ็มเอฟ ดูเหมือนว่า เขาจะคิดค่าธรรมเนียมการกู้ ถ้ากู้ครบวงเงินและใช้เงินคืนครบ เขาจะคืนเงินค่าธรรมเนียมให้

(ไทยทำเรื่องขอกู้ 17,200 ล้านดอลล่าห์ ค่าธรรมเนียมขอกู้0.6% ของวงเงิน = 103.2ล้านดอลล่าห์)

เมื่อไทยทำเรื่องกู้ไว้ 17,200 ล้านดอลล่าห์ แต่ไทยกู้ไม่ครบ ไอเอ็มเอฟเขาจึงยึดค่าธรรมเนียมการขอกู้ไทยที่ 0.6% จากวงเงินขอกู้ 17,200x0.6% = 103.2 ล้านดอลล่าห์ หรือเป็นเงินไทยที่ 4,231 ล้านบาท (ให้ตามไปอ่านลิงค์ตามข้อมูลเพิ่มเติมด้านล่าง)

(ยอมให้ยึดค่าธรรมเนียม 0.6% หรือแค่ 103.2 ล้านดอลล่าห์เท่านั้น ยังดีกว่าไปกู้เงินที่เหลืออีก 3 พันล้านดอลล่าห์ แต่ต้องเสียดอกเบี้ย 2.23% ไปอีกปีครึ่งที่เหลือ หรือเป็นดอกเบี้ยอีกประมาณ  100.35 ล้านดอลล่าห์ครับ)

จึงเท่ากับว่า การที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่ได้กู้เงินให้ครบ 17,200 ล้านดอลล่าห์ จึงทำให้ไอเอ็มเอฟไม่คืนค่าธรรมเนียมการกู้ให้ไทย (โดนยึดค่าธรรมเนียม) เป็นเงินประมาณ 4 พันล้านบาท ซึ่งมาโดนปรับเอาในสมัยรัฐบาลทักษิณแทน

(**ในรูปด้านบนของคุณสมจิตต์ เงิน 4,800ล้านดอลล่าห์ จึงไม่ใช่เงินหนี้ก้อนสุดท้ายที่ถูกต้อง เพราะหนี้ก้อนสุดท้ายที่ทักษิณจ่ายคือ 60,000ล้านบาท หรือประมาณ 1,460 ล้านดอลล่าห์ ซึ่งตอนทักษิณแถลงใช้หนี้ก้อนนี้ ตอนนั้นก็ไม่มีใครทักท้วงว่า ไม่ใช่ัตัวเลขหนี้ที่คงเหลือ)

---------------------

ผมขอสรุปเลยว่า ไม่มีการปรับเงินจริง ๆ แต่ที่เกิดจากไอเอ็มเอฟไม่คืนเงินค่าธรรมเนียมการกู้ให้ไทย เพราะมีวงเงินกู้ที่ไทยยังไม่ได้กู้อีก 3,000 ล้านดอลล่าห์ เป็นเงินประมาณ 4 พันล้านบาทนั้น นั่นอาจเพราะรัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่ได้กู้ให้เต็มวงเงินเอง เพื่อหวังปลดแอกไทยหลุดจากการควบคุมนโยบายเศรษฐกิจไทยจากไอเอ็มเอฟ

ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐบาลชวนได้ทยอยจ่ายหนี้ไอเอ็มเอฟมาตลอด จนมารัฐบาลทักษิณก็ทยอยจ่ายหนี้เป็นงวด ๆตามหน้าที่ของรัฐบาลไทย 

จนในปี 2546 ทักษิณก็มาแถลงว่าได้ใช้หนี้IMF ในส่วนที่กู้มาแล้วงวดสุดท้าย ที่ยังเหลือค้างจ่ายอยู่อีก 60,000ล้านบาท ก่อนกำหนดประมาณ 1 ปีครึ่งนั้น

(หรือประมาณ1,460 ล้านดอลล่าห์ในขณะนั้น ไม่ใช่ตัวเลขหนี้ค้าง 4,800 ล้านดอลล่าห์ตามที่มีการแชร์ข้อมูลกันในโลกออนไลน์ ซึ่งตัวเลขที่ทักษิณแถลงก็ไม่มีพรรคไหนทักท้วงว่าไม่จริง )  

แต่รัฐบาลทักษิณกลับไปกู้เงินจากธนาคาร ADB ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ไอเอ็มเอฟ เพื่อปลดหนี้จากไอเอ็มเอฟให้เด็ดขาดเพื่อหวังเอาหน้า ทั้ง ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องรีบใช้คืนก็ได้

เพราะการที่รัฐบาลประชาธิปัตย์เลิกกู้ตามวงเงินในงวดที่เหลือต่อไปแล้ว ก็เท่ากับเป็นอิสระจากไอเอ็มเอฟทันที

และเมื่อรัฐบาลไทยตั้งแต่สมัยพรรคประชาธิปัตย์ ไม่กู้เงินให้ครบตามวงเงินที่ขอกู้ไว้  ไอเอ็มเอฟจึงไม่คืนค่าธรรมเนียมให้ไทย



(จริง ๆ ไม่ควรเรียกว่าไทยโดนไอเอ็มเอฟปรับ แต่หมายถึง ไอเอ็มเอฟไม่คืนค่าธรรมเนียม ที่จะต้องคืนเมื่อกู้เต็มวงเงินและใช้หนี้ตามกำหนด จึงจะถูกต้องมากกว่า)



ขอสรุปสั้น ๆ ว่า ในอีกประมาณ 2 ปีที่เหลือ ที่ไทยจะต้องกู้IMF อีกประมาณ 4งวด แต่รัฐบาลชวนกลับไม่ได้กู้เพืม เพราะต้องการปลดแอกไทย 

และพอทักษิณไปจ่ายเงินกู้คงค้างอีก 6 หมื่นล้านบาทเป็นงวดสุดท้าย แล้วรัฐบาลทักษิณก็ไม่ได้กู้ในวงเงินกู้ที่เหลือจากไอเอ็มเอฟเช่นกัน จึงได้ถูกไอเอ็มเอฟริบเงินค่าธรรมเนียมการกู้ครับ


จากชื่อบทความจึงได้คำตอบว่า

รัฐบาลชวลิตกู้IMF รัฐบาลชวนปลดแอกIMF ส่วนรัฐบาลทักษิณผลาญเงินเอาหน้า ครับ

(หมายเหตุ ที่รัฐบาลเพื่อไทยอ้างว่า IMF ไม่เคยปรับเงินจากไทยก็คงจะจริง เพราะIMF ไม่ได้เรียกค่าปรับจากไทยเพิ่มอีก แต่ไอเอ็มเอฟไม่คืนเงินค่าธรรมเนียมการกู้คืนให้ไทยครับ)

--------------

โดยส่วนตัว ผมคิดว่า หากรัฐบาลชวนไม่กู้เงินให้ครบ แล้วต้องโดนริบเงินค่าธรรมเนียมบ้าง ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดแต่อย่างใด เพราะการปลดแอกจากไอเอ็มเอฟได้ถือว่าคุ้มมากกว่าเงินค่าธรรมเนียมที่ถูกริบไปครับ


---------------

ชวนนท์ ยัน ปชป.ต่างหากที่ทำให้ไทยใช้หนี้ไอเอ็มเอฟได้ก่อนกำหนด !!



นั่นแสดงว่า การใช้หนี้ไอเอ็มเอฟก่อนกำหนด 1 ปี เป็นผลงานของพรรคปชป. ฉะนั้นการปรับเงินหรือยึดค่าธรรมเนียมการกู้จากไทยนั้น จึงไม่ได้มาจากการจ่ายก่อนกำหนด แต่มาจากการยังกู้ไม่ครบตามวงเงินที่ขอกู้มากกกว่าครับ

ผมมีข้อมูลเพิ่มเติมด้านล่าง เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมไอเอ็มเอฟ หากกู้ไม่ครบเต็มวงเงินที่ยื่นขอ


-------------

รัฐบาลทักษิณจ่ายหนี้ไอเอ็มเอฟมากกว่ารัฐบาลชวนจริงหรือไม่ ?

ตอบว่าจริงครับ แต่นั่นเพราะเงินจ่ายหนี้ไอเอ็มเอฟงวดแรก เริ่มจ่ายในปี 2543 รัฐบาลชวนจึงมีโอกาสได้จ่ายหนี้ไอเอ็มเอฟเพียงแค่ปีเดียว ก็มีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2544

ส่วนรัฐบาลทักษิณเข้ามาในปี 2544 ก็ได้ทยอยหนี้จ่ายมาตลอดปี 2545 จนถึงกลางปี 2546 เป็นงวดสุดท้าย (ซึ่งรัฐบาลทักษิณอยู่นานกว่าก็ต้องทยอยจ่ายมากกว่าอยู่แล้วไม่แปลกแต่อย่างใด)

การที่มีเว็บบางเว็บนำการทยอยชำระเงินของรัฐบาลชวน กับ รัฐบาลทักษิณมาเปรียบเทียบว่า รัฐบาลทักษิณชำระหนี้มากกว่านั้น

ซึ่งตรงนี้ผมว่ามันไม่ใช่ประเด็นสำคัญแล้ว เพราะตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้นมากมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวนแล้ว

จนในปี 2544 ไทยเราก็มีทุนสำรองเพิ่่มมากขึ้นแล้ว ฉะนั้นไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลในตอนนั้น ก็ต้องมีปัญญาจ่ายหนี้อยู่ดี จึงไม่ใช่ความสามารถพิเศษอะไร

แต่มันสำคัญตรงที่ ทักษิณแอบอ้างว่า เขาเป็นคนทำให้ไทยได้จ่ายหนี้ได้ก่อนกำหนด (จริงแค่ครึ่งเดียว)

ซึ่งความจริงใครมาเป็นรัฐบาลตอนนั้น ก็ต้องได้จ่ายหนี้ได้ก่อนกำหนดอยู่แล้ว เพราะรัฐบาลชวนตัดสินใจไม่กู้เงินไอเอ็มเอฟเพิ่มอีก เพราะเศรษฐกิจไทยดีขึ้น ซึ่งกำหนดจ่ายหนี้งวดสุดท้าย ก็จะเป็นสิ้นปี 2546 แทนที่จะเป็นสิ้นปี 2547 ตามกำหนดเดิมอยู่แล้ว (ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล)

--------------

ทักษิณผิดตรงไหน ?

ก็ผิดตรงที่ กำหนดระยะเวลาที่ต้องจ่ายเงินกู้ที่รัฐบาลชวนได้กู้มา คือสิ้นปี 2546 แต่ทักษิณกลับรีบชิงจ่ายหนี้ก้อนสุดท้ายในกลางปี 2546 แทน (เร็วขึ้นแค่ไม่กี่เดือน)

ทำให้ไทยต้องไปกู้เงินจาก ADB ในอัตราสูงอย่างน้อยก็ 6 % ต่อปีเพื่อมาจ่ายหนี้ไอเอ็มเอฟที่คิดดอกเบี้ยเราแค่ 2.23 % ต่อปี เท่านั้น

เพราะหากรัฐบาลทักษิณไม่รีบชิงจ่ายก่อนกำนด ก็จะไม่ได้ฉวยโอกาสเอาหน้า นั่นเอง


คลิกดูโครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือทางเทคนิคจากADB ปี2003

--------------

เพิ่มเติม

อยากให้ผู้เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษช่วยแปลเงื่อนไขกู้ในหน้านี้หน่อยครับ

คือผมอ่านแล้ว เข้าใจประมาณว่า ไอเอ็มเอฟเขาคิดค่าธรรมเนียมจาการกู้ หากกู้จบครบวงเงินและใช้หนี้หมด เขาจะคืนค่าธรรมเนียมให้

แต่ถ้ากู้ไม่เต็มวงเงินที่ขอ เขาเลยยึดหรือปรับเป็นค่าธรรมเนียมไป ผิดถูกอย่างไร ผู้รู้ช่วยชี้แนะ

อ่านเงื่อนไขกู้ไอเอ็มเอฟ http://www.imf.org/external/np/exr/facts/sba.htm

(หมายเหตุ ที่ผมขอบคำถามทางช่องเฟสบุ๊คด้านล่างบทความ ข้อความของผมหายไปหมด เพราะเฟสผมโดนปิดไป)

คลิกอ่าน ใครคือต้นเหตุวิกฤติปี 40 และสาเหตุที่แท้จริงของวิกฤติต้มยำกุ้ง

คลิกอ่าน ทักษิณขโมยซีน เรื่องสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ 


21 ความคิดเห็น:

  1. อยากให้ช่วยตอบข้อสงสัยดังต่อไปนี้
    1. มีการปรับเงินจริงหรือไม่ ? เป็นไปได้หรือไม่ที่ เงื่อนไขระหว่างรัฐบาลกับ imf ไม่มีการปรับอยากที่กล่าวถึง หรือปรับในอัตราที่ถูกกว่าดอกเบี้ยซึ่งจะเสีย

    2. เรื่องข้อมูลดอกเบี้ย ADB หรือ ค่าธรรมเนียม ค่าปรับต่าง ๆ ทำไมถึงดูจากเฉพาะในเว็บมาอ้างอิง เพราะทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงในการเจรจา ข้อมูลที่ลงไว้เป็นเพียงเบื้องต้นซึ่งไม่สามารถนำมาอ้างอิงได้เลย ควรไปหาข้อเท็จจริงมาเขียนมากกว่า

    3. การใช้หนี้ IMF ทำให้ประเทศไม่อยู่ในการแทรกแซงของ imf หลายประการ เช่น เราไม่ต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7 เปอร์เซ็นต์ เป็่น 10 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องทำตามคำสั่งของ IMF ที่สั่งให้ขึ้นภาษีหลายอย่างในประเทศไทย .... เงื่อนไขนี้ควรถูกนำมาพิจารณาควบคู่ด้วยหรือไม่ถึงประโยชน์ในการจ่ายหนี้ก่อนกำหนด

    4. เรื่องความเชื่อมั่นของต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน ในช่วงที่ประกาศจ่ายหนี้จนหมด ควรนำมาคำนวนด้วยหรือไม่ว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นเช่นไร

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เห็นด้วยค่ะ ข้อมูลแค่นี้น่าจะไม่พอที่จะนำมาตัดสินจริงๆ

      ลบ
    2. 1. คุณครับ ในบทความบอกว่า จะเรียกว่าปรับ ก็ไม่ถูกต้องนัก แต่เป็นการไม่คืนค่าธรรมเนียมการกู้เท่านั้น เพราะไม่ได้กู้ถึงวงเงินตามที่ตกลงแต่แรก

      คือถ้ากู้ตามวงเงินที่ขอไว้ และจ่ายหนี้จนครบตามกำหนดที่ตกลงไว้ ไอเอ็มเอฟจะคืนค่าธรรมเนียมการกู้0.6% คืนครับ ถ้ากู้ไม่ถึงวงเงินที่ตกลง ก็คือ อดได้ค่าธรรมเนียมคืน

      2. เรื่องดอกเบี้ย ADB เป็นที่รูักันว่า ใช้อัตราดอกเบี้ย Libor + เป็นหลัก

      ซึ่งผมได้ตอบคำถามคุณติ๋ม ถิ่นกระทือ ทาง ช่องแสดงความเห็น facebook ไว้แล้วว่า ทุกอย่างมันก็ขึ้นกับข้อตกลงในแต่ละโครงการ แม้แต่ในเว็บ ธปท. ก็ได้พูดเรื่องอัตราดอกเบี้ย Libor เอาไว้

      และนี่เป็นบทความแสดงความเห็นของผมครับ ไม่ถึงกับเป็นบทความทางวิชาการที่จะต้องตามข้อมูลลึกขนาดนั้น หากคุณสงสัยประเด็นใด ก็ลองหาข้อมูลมาแชร์กันครับ ผมหาข้อมูลเท่าที่จะหาได้พอประมาณเท่านั้น หากคุณคิดว่าข้อมูลดอกเบี้ยของผมผิด ก็ลองหาข้อมูลดอกเบี้ยที่คุณคิดว่าถูกมาหักล้างครับ

      และข้อมูลบางเรื่อง ก็ต้องหน่วยงานที่มีอำนาจเท่านั้นที่จะไปขอดูข้อมูลเชิงลึกได้ครับ เช่น ปปช. สตง. เป็นต้น

      3. เรื่องการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ อย่างเช่น เมื่อทักษิณใช้หนี้ไอเอ็มเอฟหมดแล้ว ก็ยังแปรรูป ปตท. ต่อไป ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นทักษิณเคยหาเสียงโจมตี นายชวน เกี่ยวกับนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจครับ

      4 เรื่องความเชื่อมั่นต่างชาติ กับเรื่องการใช้หนี้ไอเอ็มเอฟเไม่ค่อยมีผลกระทบท่าไหร่หรอกครับ เขาดูปัจจัยอื่นมากกว่า เพราะหนี้ไอเอ็มเอฟ เป็นหนี้ที่น้อยมากเมื่อเทียบกับหนี้สาธารณะที่ไทย
      กู้มาก่อนหน้านั้นที่มีอย่แล้ว

      ลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ10 ธันวาคม 2556 เวลา 23:33

    คนเขียนบทความนี้ขึ้นมามีจุดประสงค์เพื่ออะไร มีทฤษฤีอะไรมารองรับ แล้วไอ้ condition เงินกู้เนี่ยลงวันที่ปี 2013 นะคะ 15 ปีที่แล้วเนี่ยมันคงเปรียบเทียบไม่ได้กับตอนนี้กระมังคะ เราไม่ใช่เสื้อแดงแต่รู้สึกว่าคนเขียนไม่สร้างสรรค์ เรื่องเมื่อ 15 ปีที่แล้วคุณยังนำมาเขียนโชว์ระบบความคิดแบบผิดๆของคุณอีกหรอคะ เอาทางธรรมก่อนนะ คุณควรมองไปข้างข้างหน้า ดูความพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในช่วงตั้งแต่คืนเงินกู้ที่ผ่านมา แต่คุณกลับมายึดติดกับอดีต มีแต่คำถ้าๆไม่คืน ถ้านู่น ถ้านี่ เรื่องมันผ่านมาแล้วซึ่งคุณควรยึดติดกับปัจจุบัน อย่างเพ้อเจ้อ หรือนั่งพร่ำเพ้อถึงอดีต เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไรเลยและเสียเวลาโดยใช่เหตุ คือดิฉันนั้งอ่านแล้วเอือมค่ะ บ่องตง คุณคงจะเป็นคนที่อายุมากพอสมควรและว่างงาน ถึงมีเวลานั่งเขียนบทความที่ไม่สร้างสรรค์แบบนี้ได้ และในทางโลกนะคะ ดอกเบี้ยทบต้นทบดอกค่ะ แถมปรับขึ้นลงตามเงินเฟ้อ คูณเงินต้นไปทื่อๆทั้งก้อนเนี่ยไปเรียนมาจากโลกไหนคะ แค่ภาพแรกก็ผิดละค่ะคุณ รู้จักมั้ยลดต้นลดดอก ยิ่งจ่ายเร็วดอกยิ่งน้อยค่ะ ยิ่งไถ่ถอนเงินต้นได้เร็วขึ้น ค่าเสียโอกาสมีแน่แต่ช้าก่อน ถ้าคุณติดค้างหนี้สิน แต่เอาเงินมาฝากธนาคารภายในประเทศเพื่อกินดอกเนี่ย เป็นความคิดที่โง่มหันเลยค่ะ เพราะค่าเสียโอกาสที่จะตามมาจากการที่คุณต้องติดค้างหนี้ก้อนโตเนี่ยมีเยอะเลย หากคุณต้องเจียดเงินปีละหลายพันล้านเพื่อมาจ่ายดอกเบี้ยทุกปีเป็นระยะเวลาหลายปีเนี่ย เอาเงินส่วนนี้ไปพัฒนาประเทศดีกว่ามั้ย ลงทุนในการพัฒนาคน โครงสร้างพื้นฐาน ระบบการเงิน เศรษฐกิจและอื่นๆมันสามารถทวีคูณได้เป็นหลายร้อยเท่าตัวเลยนะคะ คุณควรต้องกลับไปเรียนการเงินและเศรษฐศาสตร์ซะใหม่แล้วหล่ะค่ะ เอาเวลาไปหาความรู้ใส่ตัวและดูแลครอบครัวลูกหลานดีกว่านะคะ ด้วยความปรารถนาดี

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ถามยาวมากเลย ขอตอบเฉพาะที่มีสาระนะครับ

      การกู้ไอ้เอ็มเอฟ ไม่เหมือนคุณกู้ซื้อบ้านครับ เขามีการทยอยจ่ายเงินต้นเป็นงวด ๆ ให้ลูกหนี้ แล้วลูกหนี้ก็ทยอยจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยของแต่ละงวด แต่ละงวดไป

      ไอเอ็มเอฟ ไม่ได้จ่ายเงินต้นตูมเดียว 17,000 ล้านดอลล่าห์นะครับ ขอให้เข้าใจตามนี้ก่อน


      เพราะสุดท้ายไทยทำเรื่องขอกู้ 17,000 ล้านดอลล่าห์ แต่กู้จริง ๆ 14,000 ล้านดอลล่าห์ ไอ้เรื่องลดต้นลดดอกของคุณน่ะ มันแค่การกู้ระดับชาวบ้านกับธนาคารพาณิชย์ครับ ข้อตกลงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงนะ

      แต่จากการวิเคราะห์เชิงจิตวิทยาจากคำตอบของคุณ ผมว่าคุณเป็นคนที่เกิดภาวะเครียดได้ง่ายมากนะ แค่เรื่องบทความแค่เนี้ย คุณยังเครียดได้ขนาดนี้ 555

      ลบ
    2. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

      ลบ
    3. ป้าแก คงว่างกว่า เขียนคำถาม ผสมคำบ่น ปนความรู้สึกส่วนตัว เพื่อบอกว่า เบื่อเหตุผล ข้อมูลที่คุณเอกนำมาเขียน

      นี่ขนาดป้าแก มีทางธรรม มาผสมแล้วนะเนี่ยห้าๆๆ

      ลบ
    4. เอ่อ ขอถามหน่อยคับ มันมีทั้งข่าวลือ
      "ทักษิณ จ่ายก่อนกำหนด แทนที่จะฝากกินดอกในไทย"
      "ทักษิณ ไม่ได้ชำระหนี้ แต่เป็นชวน"

      2ข้อนี้มันขัดกันเห็นๆ
      และอีก1ประเด็น มันมีธนาคารไหนที่ปล่อยให้กู้เงินตัวเองไปฝากกินดอกด้วยหรอคับ = ="?
      แถม ถึงดอกเบี้ยมันจะต่างกัน และฝากกินดอกได้จริง
      แต่ IMF คิดดอกเป็นสกุล ดอลล่า ส่วนไทยก็เงินบาท แบบนี้มันจะคุ้มทุนแน่หรอ?

      ลบ
    5. ไม่ใช่ครับ คุณอ่านเข้าใจคลาดเคลื่อนครับ

      ทักษิณจ่ายก่อนกำหนด ทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ ADB แพงกว่าผ่อนกับไอเอ็มเอฟไปจนครบกำหนดครับ

      ผมไม่ได้บอกว่า ฝากกินดอกในไทยเลยนะครับ คุณกลับไปอ่านบทความอีกสัก 2 รอบก่อนนะครับ

      ลบ
  3. ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย คือ Asian Development Bank หรือเปล่าครับ ในบทความเขียนเป็น Agricultural Development Bank ถ้าถูกต้องแล้วขออภัยครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ผมเขียนผิดเองครับ ขอบคุณครับแก้ไขแล้ว

      ลบ
  4. ถึงใครจะถูกจะผิดยังไง สิ่งที่ไม่ควรใช้ที่สุดในการโพสคือ คำว่า ควาย เพราะถ้าพวกเขาเป็นควายแล้วคุณเป็นอะไร เพราะมาจากสายพันธ์เดียวกัน บรรพบุรุษเดียวกัน ดูและอ่าน พิจารณา อย่างมีเหตุผลดีกว่าไหมค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ผมนึกว่า คุณประภัสสร เขียนถึงผมซะอีก แต่ผมเช็คดูแล้ว ผมไม่ได้เขียนคำว่า ควายในบทความนี้
      คุณประภัสสร คงเขียนถึงผู้ที่แสดงความเห็นทางช่อง facebook ที่มีการใช้คำว่า ควาย กันเยอะ

      ส่วนผมเอง ปกติไม่ค่อยใช้คำว่า ควาย กับพวกเสื้อแดงเท่าไหร่

      เพราะผมใช้คำว่าฟายแดงมากกว่า

      ส่วนเหตุผลของผมคืออะไร อ่านเอาฮาได้ตามนี้


      คลิกอ่าน !! ทำไมผมถึงเรียกพวกเสื้อแดงว่า ฟายแดง

      ลบ
  5. เพราะฉะนั้นเราควรกู้เงินต่อไปใช่ไหมคะ?
    สงสัยน่ะค่ะ

    ตอบลบ
  6. ในบทความได้อธิบายแล้วว่า ถ้ากู้จนครบวงเงิน จะเสียดอกเบี้ยมากกว่าโดนริบค่าธรรมเนียมครับ ฉะนั้นงดกู้ได้จะดีที่สุด เพราะถ้าเราไม่คิดจะกู้เพิ่ม ก็คือหยุดเชื่อฟังไอเอ็มเอฟได้ทันที

    ตอบลบ
  7. เห็นหลายๆ คนว่าคุณใหม่ เมืองเอก เชิงว่า ข้อมูลไม่แน่น อย่างนู้นอย่างนี้รวมทั้งย้ำตัวเองด้วยว่าไม่ใช่เสื้อแดงทั้งๆที่มันไม่ใช่เกี่ยวกับประเด็นหลักนี้ อย่าดีก็แค่ตั้งคำถามที่ ดูดี ดูมีหลักการ มาถามหาข้อมูลที่เป็นไปไม่ได้ที่คนธรรมดาจะไปขอดู

    ยังไม่เห็นซักคนจะยก ข้อมูลมาหักล้างอย่างชัดเจน ให้คนอ่านได้เกิดปัญญาเลยครับ

    คุณจะสีไหน หรือไม่สีไม่ทราบ แต่ยังไงรู้สึกว่าคุณมีจุดยืนของตัวเองบนเหตุผลที่คุณหามาได้
    อีกทั้งยังเปิดรับการแถ สีข้าง(ขอไม่เรียกว่าการถกเถียง หรือหักล้างแล้วกันนะ) ของเพื่อนที่เห็นต่าง

    อันนี้น่าจะเป็นเรื่องที่คน ทั่วไปน่าจะ คิดได้บ้างนะครับ

    ตอบลบ
  8. ผมเห็นจั่วหัวว่า แซวการเมือง เปิดอ่านแล้วไม่ได้แซวแต่แฉข้อมูล ขอออกความเห็นหน่อยว่า
    ..ถ้าจะเขียนเรื่องย้อนหลังไปมาแบบนี้ เหมือนดาบสองคมแล้วแต่ใครจะมองมุมไหน
    ต่างคนต่างเหตุผล ถามฝ่ายไหนก็มีข้ออ้างด้วยกันทั้งนั้น( ต่างคนต่างบอกตัวเองถูก )
    ..เขียนประเด็นอื่นเถอะคับ ( แม้จะเป็นความจริง ) เพราะด้วยเหตุผลนี้แหละที่ทำให้ประเทศไทย
    ไม่ก้าวหน้า รัฐบาลนี้ทำเริ่มโครงการดีๆ แต่ถูกถอดโครงการเก่ายังค้างอยู่ รัฐบาลใหม่เปลี่ยนไม่ทำ
    ด้วยเหตุผลว่า ถ้าทำแล้วจะเป็นผลงานของรัฐบาลเก่า งานของข้าราชการทุกกรมทบวงก็เหมือนกัน
    งานเก่าทำจะจบแล้ว คนใหม่มายกเลิกทำโปรเจคใหม่ที่เป็นของตัวเอง ไปคนละทิศคนละทาง
    เหมือนไม่ไปไหน ...แล้วอย่างนี้จะไปโทษใคร โทษรัฐบาลใหม่หรือรัฐบาลเก่า หรือคนเลือกรัฐบาล หรือ...

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ผมไม่เคยนึกอยากจะเขียนหรอกครับ คิดว่าอยากเขียนเหรอ เสียเวลาผมจะตาย แต่ผมเบื่อที่พวกฟายแดงและทักษิณ ชอบเอามาอ้างเป็นผลงานแบบโง่ ๆ แต่ฝ่ายเดียว จนไม่ให้เครดิตรัฐบาลอื่น ผมเลยต้องมาเขียนข้อเท็จจริงให้คนที่อยากรู้ข้อเท็จจริงได้รู้

      โดยปกติไม่มีรัฐบาลไหน ๆ ที่ผ่านมาชอบอวดผลงานเอาหน้าหรอกครับ มีแต่รัฐบาลทักษิณกับพวกฟายแดงนี่แหละ ที่ทำประเพณีดี ๆ เปลี่ยนไป ด้วยการชอบอวดเอาหน้าเอาดีแต่ผู้เดียว

      ลบ
  9. เห็นด้วยอย่างยิ่ง ประเทศไทยสมัยก่อนพูดเรื่องการเมืองก็วิจารณ์กันไปทั่ว ด่ากันพอเป็นพิธี ก็รู้ๆ กันอยู่ว่าโกงกินกันทุกรัฐบาล แต่พอเริ่มมีทักษิณเข้ามา นโยบายต่างๆ แทนที่จะเป็นผลงานพรรค จะมุ่งเน้นไปที่ทักษิณคนเดียว (น่าจะเป็นเพราะตอนโชว์ตัว นกขมิ้น) ทีมงานพรรคไทยรักไทยที่เคยสร้างผลงานดีๆ ไม่ค่อยถูกพูดถึง ดาวเด่นกลายเป็นทักษิณ น่าจะเพราะความเป็นเศรษฐีใหญ่และชอบทำตัวเป็นสตาร์ เก็บผลประโยชน์เต็มที่ ที่สำคัญมองไปที่พรรคเพื่อไทยตอนนี้ ทีมงาน ผู้ร่วมพรรค ทีมรัฐบาลที่กลายเป็นรักษาการณ์ ดูไม่ได้เลย แต่คนก็ยังให้เครดิตกับทักษิณ น่าเสียดายที่การเมืองไทยตอนนี้มันไม่สนุกเหมือนก่อนที่ชาวบ้านเอานักการเมืองมาด่า มาวิจารณ์กันได้ ตอนนี้ใครด่าฝ่ายหนึ่งจะถูกโยนไปเป็นพวกอีกฝ่ายทันที ทะเลาะกันเอาเป็นเอาตาย ถ้าทำได้อยากล้างกระดานลบออกไปทุกพรรคเลย แล้วมานับหนึ่งใหม่

    ตอบลบ
  10. 30 บาท ทุกโรค ทักษิณก็ไม่ได้เป็นคนต้นคิด ยังอ้างมาเป็นผลงานเขาเลย

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. คนคิดคือได้แพทย์สงวน นิตยารัมพงษ์

      https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%99_%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%A0%E0%B9%8C%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C

      ส่งแนวคิดนี้ตั้งแต่สมัยท่านชวนหลีกภัยครับ แต่ผ่านในช่วงท่านทักษิณ ครับ

      ลบ