วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2557

แนะวิธีแก้ปัญหายางพาราราคาตก ให้พลเอกประยุทธ์







ได้ดูพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพูดมาจากเกาหลีใต้เรื่องยางพารา ในรายการคืนความสุข

พลเอกประยุทธ์ บอกว่า ประเทศที่เจริญแล้ว รวมทั้งประเทศรอบบ้านเราเขาไม่มีการอุดหนุนสินค้าการเกษตรกันแล้ว เพราะมันผิดกฎหมาย และไม่ใช่การแก้ปัญหาให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

ส่วนประเทศที่ปลูกยางพาราขายแข่งกับไทยทุกประเทศเขามีต้นทุนผลิตน้ำยางพาราตกกิโลกรัมละ 35- 45 บาทเท่านั้น

ในขณะที่ชาวสวนยางพาราไทยมีต้นทุนการผลิตน้ำยางพาราสูงถึงกิโลกรัมละ 60 กว่าบาท แล้วแบบนี้ยางพาราจะไปขายแข่งกับเขาได้อย่างไร

-------------------

ประเทศไทยผลิตยางพาราส่งออกมากที่สุดในโลก ผลิตไว้ใช้เองในประเทศ 13 % ส่งออกไปขายประมาณ 87 % แต่การส่งออกเริ่มลดลงเพราะ

เพราะเดี๋ยวนี้จีน ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของไทย เขาหันไปซื้อยางพาราจากประเทศเพื่อนบ้านเรามากขึ้นเพราะราคาถูกกว่า ประกอบกับจีนก็ปลูกยางพาราเองด้วย แล้วแบบนี้ยางพาราไทยก็ยิ่งตกอยู่ในสภาวะขายไม่ออก ราคาก็ยิ่งตกฮวบ ๆ เป็นธรรมดา

ดังนั้นไทยจึงจำเป็นต้องทำการแปรรูปยางพาราให้เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปให้มากขึ้น อย่างน้อยต้องแปรรูปไว้ใช้เองในประเทศหรือแปรรูปเพื่อการส่งออกอย่างน้อย 50 % หรือยิ่งแปรรูปได้ยิ่งมากก็ยิ่งดี และอย่าเพิ่มพื้นที่ปลูกยางมากไปกว่านี้ เพราะยิ่งปลูกเยอะก็ยิ่งเจ๊ง

จริง ๆ ผมก็ไม่เข้าใจเท่าไหร่นะ ว่า ทำไมประเทศที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ส่งออกอันดับต้น ๆ ของโลกอย่างไทย ซึ่งน่าจะมีการนำยางพาราไปผลิตยางรถยนต์จำนวนมาก แล้วทำไมยางพาราไทยถึงยังเหลือคามากมายขายไม่ค่อยออก หรือว่าบริษัทยางรถยนต์ในไทยเขาไม่ค่อยได้ใช้ยางพาราไทย ? หรือว่าใช้ แต่ก็ยังใช้น้อย

พอนึกถึงข่าวพื้นยางปูสนามฟุตซอลโรงเรียน ที่โกงกินกันสะบัด คุณภาพยางปูพื้น ซึ่งเป็นยางสังเคราะห์ก็ห่วยไม่ได้มาตรฐาน

มันยิ่งทำให้ผมคิดว่า เพราะคุณภาพการแปรรูปยางพาราของไทยมันห่วยด้วยหรือไม่ ก็ขนาดยางปูพื้นฟุตซอลยังไร้มาตรฐาน คนซื้อเขาเลยไปหาซื้อผลิตภัณฑ์ยางปูพื้นจากนอกดีกว่า ?

ฉะนั้นการผลิตสินค้าไร้คุณภาพ ก็น่าจะเป็นสาเหตุนึงที่ทำให้ผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราของไทยจึงไม่ค่อยได้รับความสนใจจากต่างประเทศ พูดง่าย ๆ คือ ขายไม่ค่อยออก

จนทำให้อุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราในประเทศไทยจึงมีน้อย จนไม่พอกับปริมาณยางพาราดิบที่ไทยเราผลิตได้

ผมลองไปค้นดูว่า ยางพาราส่วนใหญ่เขานำไปแปรรูปเป็นอะไรบ้าง แต่เป็นข้อมูลปี 2553 ก็มีดังนี้

1. ยางยานพาหนะ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดของประเทศในปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 68,726.08 ล้านบาทได้แก่ ล้อรถยนต์ ล้อเครื่องบิน ล้อรถจักรยายนต์ ล้อรถจักรยาน และล้อรถอื่นๆ ทั้งยางนอกและยางใน รวมถึงยางอะไหล่รถยนต์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ยางในกลุ่มนี้มีปริมาณการใช้ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบเกือบร้อยละ 50 โดยใช้ประมาณ ปีละ 158,883 ตัน

2. ยางยืดและยางรัดของ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยางธรรมชาติจำนวนมากในส่วนผสมยางยืดใช้ใน อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าต่างๆ ส่วนยางรัดของก็ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันใช้ยางธรรมชาติในการผลิตถึงปีละ 90,561 ตัน หรือร้อยละ 28.22

3. ถุงมือยางทางการแพทย์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกรองจากยางยานพาหนะ ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 2,274.9 ล้านบาท ถุงมือยางที่ผลิตในประเทศไทย ประกอบด้วย ถุงมือตรวจโรค และถุงมือผ่าตัด สำหรับวัตถุดิบยางธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตถุงมือยาง เป็นนํ้ายางข้น มีปริมาณการใช้ยางธรรมชาติปีละ 57,120 ตัน ต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ17.80 ของปริมาณการใช้ยางทั้งหมด

4. รองเท้าและอุปกรณ์กีฬา รองเท้ายางและพื้นรองเท้าที่ทำจากยางธรรมชาติรวมทั้งอุปกรณ์กีฬาบางชนิด มีส่วนผสมที่เป็นยางธรรมชาติและผลิตในประเทศไทยปีหนึ่งจำนวนไม่น้อย ในปี 2549 ใช้ยางธรรมชาติในการผลิตประมาณ 8,492 ตัน

5. สายพานลำเลียง ใช้งานในการลำเลียงของหนักชนิดต่างๆ มีขนาดตั้งแต่ 2-3 นิ้ว ไปจนถึง 1.5 เมตร ผลิตภัณฑ์ยางกลุ่มนี้มีการนำเข้ามากกว่าการส่งออก โดยในปี 2549 มีมูลค่าการส่งออก 1,057 ล้านบาท และนำเข้า 1,620 ล้านบาท ในการผลิตสายพานใช้ยางปีละประมาณ 1,318 ตัน เป็นยางแผ่นรมควันชั้น 1,3,5 และยางแท่ง STR XL, 20

6. ผลิตภัณฑ์ฟองนํ้า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากนํ้ายางข้น ปี 2549 มีปริมาณการใช้ยางธรรมชาติ 364 ตัน ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ มีโรงงานผลิต 12 โรง

7. สื่อการเรียนการสอน อุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอน โดยเฉพาะทางด้านการแพทย์ จะใช้วัสดุจำพวกยางและนำเข้าจากต่างประเทศ ให้ความรู้สึกในการปฏิบัติงานเหมือนของจริง ยางพาราสามารถนำไปใช้ผลิตสื่อการสอน การฝึกปฏิบัติงานได้เป็นอย่างเช่นกันโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากยางฟองนํ้า เช่น โมเดล ร่างกายมนุษย์, สัตว์ แขนเทียมสำหรับฝึกทางการแพทย์ เป็นต้น

8. ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในงานก่อสร้างและวิศวกรรม
8.1 ยางรองคอสะพาน (Elastomeric Bearings for Bridges) หรือแผ่นยางรองคอสะพาน (Rubber Bridge Bearigs) แบ่งตามชนิดของยางที่ใช้ผลิตเป็น 2 ประเภท คือ ยางรองคอสะพาน ทำจากยางสังเคราะห์ Polychloroprene, (CR) or Neoprene และทำจากยางธรรมชาติ (Natural Rubber, NR) ซึ่งทั้ง 2 ประเภท มีทั้งแบบแผ่นยางล้วน (Plain) และแบบที่มีวัสดุเสริมแรง (Laminated) สำหรับการเลือกใช้ยางตามประเภท ชนิด และแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับการกําหนดมาตรฐานของผู้ออกแบบและ / หรือของผู้ก่อสร้าง

8.2 แผ่นยางกันนํ้าซึม (Water Stop) ทำหน้าที่เหมือนปะเก็นของงานคอนกรีต ใช้ป้องกันการขยายตัว หรือ หดตัวของคอนกรีต เพื่อไม่ให้นํ้ารั่วซึมหรือผ่านได้ ในงานก่อสร้างทั่วไป เช่น คอนกรีต คานสะพาน อาคารชั้นใต้ดิน ดาดฟ้า เป็นต้น รวมทั้งงานก่อสร้างที่โครงสร้างต้องสัมผัสกับนํ้าตลอดเวลา เช่น แท้งค์นํ้า บ่อบำบัดนํ้าเสีย สระว่ายนํ้า คลองส่งนํ้า เขื่อนและฝาย เป็นต้น

8.3 ยางกันชนหรือกันกระแทก (Rubber of Rubber Bumper) ใช้เป็นเครื่องป้องกันการเฉี่ยวหรือการกระแทกของเรือ หรือรถเมื่อเข้าจอดเทียบท่า ใช้วัตถุดิบผลิตได้ทั้งยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์

8.4 ยางคั่นรอยต่อคอนกรีต (Rubber Hose for Joint of Rubber Sealant) มีลักษณะเป็นท่อยางขนาดเล็กมีรูกลางตลอดความยาว ใช้อุดรอยต่อด้านล่างของคอนกรีตของสะพาน หรือรอยต่อระหว่างคานสะพานกันตอม่อของสะพานก่อนการหยอดยางมะตอย วัตถุดิบที่ใช้ผลิตทั้งจากยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ แต่มักมีการกําหนดให้ใช้ยางสังเคราะห์

8.5 บล็อกยางปูพื้น (Rubber Block) ใช้ปูพื้นแทนอิฐบล็อกคอนกรีต บล็อกยางมีข้อได้เปรียบบล็อกคอนกรีตคือเบากว่า ผิวมีสปริง ยืดหยุ่นได้เวลาลื่นล้มจึงไม่บาดเจ็บมากและไม่เป็นแผล ส่วนใหญ่มักผลิตจากยางธรรมชาติผสมกับยางรีเคลมธรรมชาติหรือสังเคราะห์ ปัจจุบันยังไม่ค่อยนิยมใช้ยางบล็อกปูพื้นเพราะราคาค่อนข้างสูงกว่าบล็อกคอนกรีต

8.6 แผ่นยางปูอ่างเก็บนํ้า (Rubber Water Confine) เป็นผลิตภัณฑ์ยางที่สามารถใช้ยางธรรมชาติปูรองสระ เพื่อเก็บกักนํ้าบนผิวดินที่เก็บนํ้าไม่ได้ เช่น ดินปนทราย ดินลูกรัง โดยมีสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2529 และสามารถพัฒนาได้กว้างขวาง ได้แก่ ใช้เก็บกักนํ้าสำหรับเกษตรกร ใช้งานในสนามกอล์ฟและรีสอร์ท ใช้ในงานชลประทาน บ่อบำบัดนํ้าเสียของโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถกักเก็บนํ้าได้ โดยทั่วไปวัตถุดิบที่ใช้ในการปูสระกักเก็บนํ้าสามารถใช้เป็นยางธรรมชาติ หรือยางสังเคราะห์ หรือ พลาสติก หรือผ้าใบเคลือบยาง

8.7 ฝายยาง (Rubber Dam) หรือเขื่อนยางส่วนใหญ่ผลิตจากยางสังเคราะห์แต่ผู้ผลิตให้ความเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะใช้วิธีการเคลือบชั้นนอกของตัวฝายยางด้วยยางสังเคราะห์ และภายในใช้ยางธรรมชาติแต่ความเป็นไปได้นี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ใช้อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่ค่อยเป็นที่สนใจของผู้ผลิตภายในประเทศ เพราะมีผู้ใช้จำกัดเพียงกรมชลประทานและมีราคาสูง แต่ข้อดีของฝายยางธรรมชาติ คือสามารถปรับระดับความสูงของฝายได้ตามความเหมาะสมของระดับนํ้า ซึ่งสามารถลดแรงกระแทกจากนํ้าหลากและช่วยระบายนํ้าป้องกันนํ้าท่วมล้มตลิ่ง อีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดนํ้าล้นหน้าฝาย ป้องกันตะกอนทราย ตกตะกอนหน้าฝายได้ นอกจากนี้ในฝายที่อยู่บริเวณปากแม่นํ้าจะสามารถป้องกันนํ้าเค็มรุกลํ้าเข้ามาในพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่อยู่อาศัยอีก ทั้งฝายยางยังทนทานต่อการกัดกร่อนของนํ้าเค็มได้ดีกว่าบานประตูระบายนํ้าที่ทำด้วยเหล็ก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้ศึกษาสูตรผลิตแผ่นฝายยางโดยการใช้ยางธรรมชาติผสมยางสังเคราะห์ EPEM และทดลองติดตั้งฝายยางเมื่อปี 2537

8.8 แผ่นยางปูพื้น (Rubber Floor Mat) ส่วนใหญ่ผลิตจากยางธรรมชาติ ใช้ปูพื้นหรือทางเดินบนอาคารโรงงาน สำนักงาน สนามบินใช้ได้ทั้งพื้นที่ราบและพื้นที่ลาดเอียง เพื่อป้องกันการลื่น และลดเสียงที่เกิดจากการเดิน หรือการกระแทก

9. การใช้ยางพาราผสมยางมะตอยสำหรับทำผิวถนน ปัจจุบันการคมนาคมขนส่งมีความสำคัญและมีการขยายตัวมาก โดยเฉพาะถนนถือเป็นปัจจัยหลักของการคมนาคมแลถนน แต่มักจะประสบปัญหาในเรื่องเกิดการชำรุดเสียหายเร็วกว่าปกติ การปรับปรุงสมบัติของยางมะตอยให้ใช้ในงานทางให้ดีขึ้นจะช่วยให้ถนนมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น โดยใช้ยางพาราผสมยางมะตอยในอัตราร้อยละ 5 ทำให้ยางมะตอยมีความแข็งมากขึ้นมีความอ่อนตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น ดังนั้นถนนที่ราดยางมะตอยผสมกับยางพาราจะมีความแข็งแรงและทนทานมากขึ้น และมีการเกิดร่องล้อน้อยกว่าการใช้ยางมะตอยปกติ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม บำรุงรักษาและเป็นการเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศให้มากขึ้นด้วย (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม)


---------------

ถ้าดูจากข้อมูลข้างต้น ที่แน่ ๆ ในวันนี้ อุตสาหกรรมรองเท้ากีฬาของไทยก็เจ๊งไปหลายโรงงานแล้ว เพราะนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำโรงงานปิดตัวหนีไปตั้งโรงงานในประเทศอื่นดีกว่า เขาก็คงไปซื้อยางพาราจากเพื่อนบ้านเราแทนด้วย

ถุงมือยาง และถุงมือทางการแพทย์ วันนี้ก็โดยเวียดนามเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมาก เพราะคุณภาพดีจนมีสกู๊ปข่าวต่างประเทศเคยนำเสนอ แถมราคาถูกกว่าถุงมือไทย

คู่แข่งสำคัญอีกประเทศคือ มาเลเซีย ที่เน้นแปรรูปยางพาราจากการซื้อยางพาราจากต่างประเทศไปแปรรูปมากกว่าใช้ยางพาราที่ผลิตเอง ในวันนี้มาเลเซียผลิตยางพาราในประเทศไม่พอใช้สำหรับการแปรรูปแล้ว

เพราะมาเลเซียไม่มีการส่งเสริมการปลูกยางพาราในประเทศอีกแล้ว เขาเน้นแปรรูปยางด้วยการนำเข้ายางพาราจากต่างประเทศมาใช้มากกว่า

----------------------

“ลู่-ลานกรีฑา” ฝีมือไทยสร้างราคายางพารา



ดร.อรสา อ่อนจันทร์ นักวิจัยอาวุโส กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยแก่มทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ได้ร่วมกับการกีฬาแห่งประเทศไทยพัฒนา “ลู่-ลานกรีฑา” ที่ผสมยางธรรมชาติ ซึ่งเป็นงานวิจัยหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ยางพาราได้

“ตามปกติสนามกรีฑาประเภทลานดินจะต้องใช้วัสดุปูพื้นที่ได้รับมาตรฐานหรือมีสมบัติตรงตามข้อกำหนดสหพันธ์กรีฑานานาชาติ (IAAF: International Association of Athletics Federations) ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการบันทึกสถิติโลก แต่ที่ผ่านมาเราต้องนำเข้าทั้งเทคโนโลยีและยางสังเคราะห์ราคาแพงสำหรับวัสดุปูพื้นนี้ จึงเกิดความร่วมมือในการพัฒนาวัสดุปูพื้นที่มีราคาถูกลง และใช้ยางธรรมชาติทดแทนยางสังเคราะห์ที่ต้องนำเข้า” ดร.อรสาเผย

หลังจากใช้เวลา 2-3 ปีทางทีมวิจัยได้พัฒนาพื้นลู่-ลานกรีฑาที่มีค่าคุณสมบัติต่างๆ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดโดย IAAF ซึ่งวัสดุปูพื้นดังกล่าวเป็นวัสดุ 2 ชั้นประกบกัน ในส่วนของชั้นล่างเป็นชั้นรองรับน้ำหนักพื้น มีความหนา 10 มิลลิเมตร ทีมวิจัยสามารถทดแทนการใช้ยางสังเคราะห์ได้ 100% โดยใช้พอลียูรีเธนและยางธรรมชาติหรือเม็ดยางดำที่เรียกว่า “เม็ดยางครัมบ์” ซึ่งได้จากยางรยนต์เสื่อมสภาพ ในส่วนชั้นบนเป็นชั้นสร้างแรงเสียดทานของผู้ใช้กับพื้นสนาม มีความหนา 2-3 มิลลิเมตร ทีมวิจัยใช้ยางธรรมชาติทดแทนยางสังเคราะห์ได้ถึง 60%

ผลจากการพัฒนาดังกล่าว ดร.อรสาระบุว่า ช่วยลดค่าใช้สำหรับวัสดุปูพื้นสนามกรีฑาได้ถึง 30% โดยวัสดุเดิมที่ผลิตขึ้นจากยางสังเคราะห์นั้นมีราคาที่ตารางเมตรละ 2,500 บาท แต่วัสดุที่พัฒนาขึ้นมาใหม่นี้มีราคาตารางเมตรละ 1,700 บาท โดยคำนวณจากต้นทุนยางพารากิโลกรัมละ 50 บาท ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายสร้างสนามกรีฑาที่มีพื้นที่ 6,500 ตารางเมตรลงได้ถึง 5.2 ล้านบาท และสนับสนุนการใช้ยางธรรมชาติซึ่งผลิตในประเทศได้ถึงสนามละ 12 ตัน ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าให้แก่ยางพาราไทยได้

http://astv.mobi/Ay3u2eQ

---------------

ที่นอนยางพารา นอนสบายที่สุดในโลก

ทีนี้ผมมาคิดถึงที่นอนยางพาราแท้ 100 % จะมีราคาแพงมาก คนไทยส่วนใหญ่ที่ฐานะไม่ดีนัก จึงไม่มีโอกาสได้ซื้อที่นอนยางพาราแท้ ๆ 100 % มานอนกัน

ถ้าคุณผู้อ่านลองเสิร์ชราคาที่นอนยางพาราแท้ ๆ 100 % ดูในกูเกิลสิครับ เห็นแล้วจะหนาวว่า ราคามันแพงจริง ๆ

ผมเลยนำราคาที่นอนยางพาราจากยี่ห้อดังยี่ห้อนึงมาให้ดู ในรุ่นที่ถูกที่สุด ราคาก็ตามความกว้างและความหนา ลองดูสิครับ ราคาหลักหมื่นขึ้นไปทั้งสิ้น


กว้าง x หนา (ส่วนความยาวมาตรฐานคือ 6.5ฟุตทุกขนาด)

ลองดูขนาดกว้าง 3.5 ฟุต หนา 4 นิ้ว เป็นที่นอนขนาดเล็กสำหรับนอนคนเดียวยังราคาตั้ง 11,050 บาทเลยครับ จัดว่าแพงสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ทั่วไปจะซื้อมาใช้ จนทำให้มีผู้ผลิตที่นอนยางพาราแท้ (แต่ปลอม) ออกมาหลอกขายมากมาย จนเป็นปัญหาของผู้บริโภคไม่น้อยทีเดียว

ที่นอนยางพาราถือว่า เป็นที่นอนที่นอนสบายที่สุด ใครมีที่นอนยางพาราแท้ ๆ นอนคงจะรู้ดี

ผมถึงอยากให้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ น่าจะลองส่งเสริมให้มีการผลิตที่นอนยางพาราแท้ ๆ 100 % ให้มาก ๆ เพื่อจะได้นำมาขายในราคาประหยัดกว่านี้ สมราคาหรือถูกกว่าที่ขายอยู่กันในตลาดที่นอนวันนี้ มาขายให้คนไทยได้นอนที่นอนยางพารามากขึ้น

เช่นให้กองทัพบก มาผลิตที่นอนยางพาราแท้ 100 % ขาย เหมือนสมัยก่อนที่กองทัพบกเคยผลิตทีวียี่ห้อ RTA ออกมาขายในราคาประหยัดไงครับ

ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยผลิตยางพาราได้มากที่สุดในโลก แต่คนไทยส่วนใหญ่กลับไม่มีโอกาสได้นอนที่นอนดี ๆ แบบนี้ เพราะราคาจัดว่าแพงสำหรับคนไทยทั่วไป

ช่างน่าเศร้าจริง ๆ


ตัวอย่าง ที่นอนท๊อปเปอร์ยางพาราแท้ 100 % ขนาด 3 ฟุต หนา 1 นิ้ว ราคา 3,000 บาท นี่คือสินค้าที่ถูกที่สุดแล้ว สำหรับยี่ห้อที่ดังที่สุดในเรื่องที่นอนยางพาราแท้


ที่นอนยางพารา หมอนยางพาราเท่านั้น คือทางออกของประเทศไทย ในการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เพราะที่นอนยางพาราแพงมาก

ถ้านำน้ำยางพารามาผลิตที่นอนยางพารากันเยอะ ๆ เพราะเทคโนโลยีที่นอนยางพาราไม่ได้สูงมากแล้วในปัจจุบัน

ถ้าแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่นอนยางพารากันเยอะ ๆ จะช่วยให้คนไทยมีโอกาสซื้อที่นอนยางพาราแท้ 100 % ได้มากขึ้น เพราะราคาจะถูกลง หากมีผู้ผลิตที่นอนยางพารามากขึ้น

เพราะปัญหาตอนนี้คือ ยางแผ่นดิบมันมีมากเกินความต้องการในต่างประเทศแล้ว ต้องแปรรูปเยอะ ๆ ในประเทศเท่านั้น คือทางออก

การทำที่นอนยางพารา จะช่วยให้ราคายางแผ่นดิบราคาดีขึ้น แต่กลับทำให้ที่นอนยางพาราราคาถูกลง (ที่นอนยางพาราจะใช้น้ำยางดิบในการผลิต)

การทำถนนผสมยางพารา มันไม่พอช่วยเกษตรกรได้ทันหรอกครับ เพราะการทำถนนใช้ยางพาราใช้ในเปอร์เซนต์ที่น้อยมาก เพราะใช้ยางพาราแค่10 % ที่ต้องนำมาผสมกับยางมะตอย 90% (ตามสูตรที่เหมาะสมที่สุด)


คลิกที่รูปเพื่อไปดูรูปการผลิตหมอนยางพารา จ.พัทลุง



เบาะรองนั่งยางพาราแท้ 100 %


นี่แหละสิ่งที่ผมอยากได้ตอนนี้มากที่สุด เบาะรองนั่งดี ๆ

เพิ่งเจอในเว็บ ทำจากยางพาราแท้ 100 % แต่ติดตรงที่รู้สึกราคามันแพงไปหน่อย หนา 1 นิ้ว ราคาตั้ง 600 บาท แถมใหญ่ไปหน่อย

ถ้าได้เล็กกว่านี้สักนิด ถูกกว่านี้เยอะ ๆ จะดีมาก

ผมแนะนำเกษตรกรสวนยางพาราเลย ว่า น่าจะทำเบาะรองนั่งขาย ไม่น่าจะยากอะไร ขอให้กรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์ฯ มาช่วยให้คำแนะนำการผลิตน่าจะได้

ผมว่า จะขายดี ๆ มาก ๆ เลย เชื่อผม (โคตรอยากได้มากเลย)


คลิกอ่าน ชาวสวนยางพาราหัดอยู่บนโลกความจริงบ้าง

คลิกอ่าน สาเหตุที่ยางพาราไทยราคาตก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น