วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2559

ปี 2559 ทำไมคนกรุงเทพฯ ถึงต้องช่วยกันประหยัดน้ำด้วย






ทำไมคนกรุงเทพฯ ต้องช่วยกันประหยัดน้ำประปา

คำตอบ ขอตอบแบบง่าย ๆ ก่อนว่า เพราะน้ำในเขื่อนส่งมาเพื่อผลักดันน้ำทะเลน้อยกว่าในช่วงเวลาปกติลงเกือบ 2 เท่า ตอนนี้น้ำในเขื่อนได้หยุดการส่งน้ำเพื่อการเกษตรกรรมแทบโดยสิ้นเชิงแล้ว เพราะรัฐบาลได้ขอร้องให้เกษรตรกร โดยเฉพาะให้ชาวนาหยุดทำนาปรัง และห้ามดักสูบน้ำดิบจากคลองชลประทานและแม่น้ำเจ้าพระยาสายหลัก

เพื่อให้มีน้ำดิบเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เพื่อผลิตน้ำประปา และผลักดันน้ำเค็ม

ก่อนอื่นเราต้องมารู้ก้นก่อนว่า การประปานครหลวงใช้น้ำดิบ ซึ่งเป็นน้ำจืดที่มีค่ามาตรฐานความเค็มต้องไม่เกิน 0.25 กรัม/ลิตร ในการผลิตน้ำประปา โดยสถานีสูบน้ำหลักของการประปานครหลวงอยู่ที่ตำบลสำแล จ.ปทุมธานี

ซึ่งการประปานครหลวงจะต้องใช้น้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาในฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตำบลสำแล มากถึงวันละ 4 ล้านลบ.เมตร/วัน ซึ่งหากไม่มีน้ำดิบจากเขื่อนใหญ่ลงมามากพอ ก็อาจทำให้ค่าความเค็มของน้ำดิบที่ ตำบลสำแล มีค่าความเค็มเกินมาตรฐานได้


ภาพแสดงตัวเลขน้ำดิบวันละ 4 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน เพื่อใช้ผลิตน้ำประปานครหลวง จากแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559


จากรูปด้านบน ค่าความเค็มยังอยู่ที่ 0.15 กรัม/ลิตร ซึ่งยังเป็นค่าปกติ (หน้าเว็บ กปน. ยังรายงานถึงแค่วันที่ 11 มี.ค. 59)

ถามว่า ณ วันนี้ที่ผมเขียนบทความ คือ วันที่ 12 มีนาคม 2559 ค่าความเค็มในสถานีวัดแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่เท่าไหร่


คลิกที่รูปเพื่อขยาย


จากรูปนี้ เราจะเห็นว่า ค่าความเค็มที่ท่าน้ำศิริราชมีค่าเกินค่ามาตรฐานสูงมาก คือ มีค่าความเค็มอยู่ที่ 2.36 กรัม/ลิตร และค่าความเค็มที่ตำบลสำแล ก็เพิ่มเป็น 0.16 กรัม/ลิตร

ซึ่งถ้าน้ำจากเขื่อนที่ผลักดันน้ำเค็มมีปริมาณมากพอตามปกติ ค่าความเค็มที่ท่าน้ำศิริราชจะต้องไม่สูงกว่าค่ามาตรฐานแน่นอน

ถามว่า ณ วันที่ 11 มีนาคม 2559 เขื่อนทางภาคเหนือทั้งหมด ปล่อยน้ำมาทั้งหมดเท่าไหร่

คำตอบคือ ประมาณ 17 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน ซึ่งน้ำดิบจะเดินทางอย่างน้อย 1-2 วัน กว่าจะมาถึงกรุงเทพฯ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย


จากรูป เฉพาะเขื่อนภูมิพลฯ จ่ายน้ำลงมาวันละ 5 ล้านลบ.ม./วัน ซึ่งก็มีปริมาณใกล้เคียงกับน้ำดิบที่การประปานครหลวงใช้ในการผลิตน้ำประปา


ถามว่า ในปริมาณน้ำจากเขื่อนภาคเหนือ 17 ล้าน ลบ.ม./วัน ในช่วงแล้งหนักนี้ ผันมาใช้ผลักดันน้ำเค็มและรักษาระบบนิเวศน์วันละเท่าไหร่ ให้อ่านจากความเห็นของ ผอ.สำนักชลประทานที่ 12 ตามนี้ครับ

นายฎรงค์กร สมตน ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 กล่าวว่า

"สถานการณ์น้ำปัจจุบันเป็นการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ตามน้ำต้นทุนที่ได้วางแผนไว้แล้ว คือตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งถือว่าเป็นวันเริ่มต้นของการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้ง ช่วงนั้นตัวเลขปริมาณน้ำอยู่ที่ 4,237 ล้าน ลบ.ม. โดยวางแผนใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ผลักดันน้ำเค็ม รักษาระบบนิเวศ 2,900 ล้าน ลบ.ม.  6 เดือน 1 พฤศจิกายน 2558- 30 เมษายน 2559 ที่เหลือ 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตรเศษ เผื่อไว้กรณีฝนไม่ตก สำหรับใช้อุปโภคบริโภค ช่วงต้นฤดูฝน ซึ่งเห็นได้ว่าไม่มีน้ำสำหรับทำการเกษตร

ณ วันนี้ มีการบริหารจัดการน้ำอย่างจำกัด วันละ 17 ล้าน ลบ.ม. จาก 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้ำบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ กรมชลประทานได้เตรียมแผนบริหารจัดการน้ำไว้จนถึงเดือนกรกฎาคม 2559 แม้ว่าฝนไม่ตก หวังว่าช่วงเดือนพฤษภาคม อาจมีฝนตกลงมาช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายลงได้บ้าง

สำหรับการบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์ จำนวน 15 ล้าน ลบ.ม. ในลำน้ำปิง วัง ยม น่าน ก่อนถึงจังหวัดนครสวรรค์จะมีการสูบไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค จากนั้นไหลเข้าแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ มาถึงเขื่อนเจ้าพระยา ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากนั้นมีการระบายน้ำเข้าสู่ทุ่งฝั่งตะวันออก ได้แก่ คลองชัยนาท-ป่าสัก ที่ประตูระบายมโนรมย์ อ.มโนรมย์ อัตรา 25 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และอีกฝั่ง คือฝั่งตะวันตก รับน้ำเข้าแม่น้ำท่าจีน หรือแม่น้ำสุพรรณ อัตรา 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่ประตูระบายน้ำพลเทพ และแม่น้ำน้อย รับเข้าไปเพื่อใช้อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ 15 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่ประตูระบายบรมธาตุ ส่วนที่เหลือต้องระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อผลักดันน้ำเค็ม และผลิตน้ำประปาของกรุงเทพมหานคร รวมทั้ง ประปาส่วนภูมิภาค จังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา อัตรา 70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที"

-------------------

ทุกวันนี้ เขื่อนภาคเหนือทั้งหมด จ่ายน้ำรวมวันละ 17 ล้านลบ.ม. เพื่อใช้อุปโภคและบริโภคเท่านั้น ไม่มีการผันน้ำเพื่อการเกษตรกรรมเลย

เพราะถ้าเราดูตัวเลขการผันน้ำจากเขื่อนภาคเหนือ ย้อนหลังไป 2 ปี คือ ปี 2556 และปี 2557 เราจะเห็นว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน คือ 12 มีนาคม 2559 เขื่อนภาคเหนือปล่อยน้ำออกมามากกว่าปีนี้เกือบ 2 เท่า คือ วันละ 30 กว่าล้าน ลบ.ม./วัน

ภาพตัวเลขปริมาณน้ำปล่อยจากเขื่อนภาคเหนือ ณ.วันที่ 12 มีนาคม 2556 และ 12 มีนาคม 2557 

คลิกที่รูปเพื่อขยาย


คลิกที่รูปเพื่อขยาย



จากตัวเลขปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนภาคเหนือ ในปี 2556 และปี 2557 ประเทศไทยยังไม่เจอปัญหาภัยแล้ง จึงสามารถปล่อยน้ำได้มากถึงวันละประมาณ 30 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน


แต่พอมาถึงปี 2558 ที่เริ่มมีปัญหาภัยแล้งแล้ว ทำให้รัฐบาลต้องวอนขอให้ชาวนาลดการทำนาปรัง ซึ่งในวันที่ 12 มีนาคม 2558 น้ำในเขื่อนภาคเหนือ ก็ปล่อยน้ำลดลงเหลือวันละประมาณ 21 ล้านลบ.ม./วันเท่านั้น

คลิกที่รูปเพื่อขยาย


แต่ปริมาณน้ำปล่อยจากเขื่อนในภาคเหนือในปี 2558 ก็ยังมากกว่าปี 2559 อยู่ถึง 4 ล้านลบ.ม./วัน


ฉะนั้น ในปี 2559 ที่แล้งกว่าปี 2558 รัฐบาลถึงต้องวอนขอให้ชาวนางดทำนาปรัง เพื่อให้มีน้ำดิบเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ มากพอเพื่อใช้ผลิตน้ำประปาที่ได้มาตรฐาน

เพราะถ้าชาวนาภาคกลางยังไม่หยุดการทำนาปรังตามที่รัฐบาลขอร้อง ชาวนาลุ่มน้ำภาคกลางจะต้องใช้น้ำมากถึงวันละ 10-15 ล้าน ลบ.ม. เป็นอย่างน้อยแน่นอน

ฉะนั้น ถ้าวันนี้ชาวนาและเกษตรกรยังไม่เสียสละหยุดปลูกพืชใช้น้ำมาก รับรองได้เลยว่า คนกรุงเทพฯ จะไม่มีน้ำประปามากพอให้ใช้อย่างสุรุ่ยสุร่ายแน่นอน

อย่างทุกวันนี้ การประปานครหลวงต้องจ่ายแรงดันน้ำให้อ่อนลงในตอนกลางคืน เพื่อจะได้ช่วยให้ประหยัดน้ำมากขึ้น

แล้วใครที่บอกว่า คนกรุงเทพฯ ไม่ต้องประหยัดน้ำ เพราะยังไง ๆ น้ำประปาก็มีมากพอสำหรับคนกรุงเทพฯ เสมอ จึงเป็นความคิดที่ผิด และเห็นแก่ตัวอย่างมาก


ถามว่า ถ้าปริมาณน้ำ 17 ล้าน ลบ.ม. ที่ส่งจากเขื่อนภาคเหนือในวันนี้ ถูกชาวนานำไปใช้ปลูกข้าววันละ 10 ล้านลบ.ม. เป็นอย่างน้อยจะเกิดอะไรขึ้น

คำตอบก็คือ น้ำดิบหรือน้ำจืดจะหายไปจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึง 10 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน แล้วจะเหลือน้ำดิบเดินทางมากรุงเทพฯ ไม่ถึง 6 ล้านลบ.ม./วัน (เพราะจะสูญเสียจากการเดินทางและเสียไปจากการสูบน้ำเพื่อทำน้ำประปาภูมิภาคด้วย)

ซึ่งถ้าเหลือน้ำดิบปริมาณแค่ 6 ล้านลบ.ม./วัน เท่านั้นจริง ๆ  ก็คงไม่มีน้ำจืดมากพอที่จะผลักดันน้ำเค็มแน่นอน ทำให้น้ำทะเลจะหนุนสูงขึ้น จนทำให้ชาวสวนในลุ่มภาคกลางตอนล่าง เช่น ชาวสวนนนทบุรี อาจต้องซื้อน้ำประปามาใช้รดน้ำต้นไม้อีกเหมือนเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา แล้วน้ำดิบที่ ตำบลสำแล ก็อาจมีค่าความเค็มเกินค่ามาตรฐานไปด้วย


ถามว่า น้ำดิบที่ตำบลสำแล เคยมีค่าความเค็มเกินมาตรฐานหรือไม่ ?

ตอบว่า เคยมีครับ และหลายครั้งแล้วด้วย เช่นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 น้ำดิบที่ตำบลสำแล มีค่าความเค็มเกิน 0.83 กรัม/ลิตร



ถามว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ที่น้ำดิบมีค่าความเค็มเกินมาตรฐาน ก่อนหน้านั้น 1 วัน เขื่อนภาคเหนือได้ส่งน้ำดิบลงมาวันละเท่าไหร่

จากตัวเลขน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนในวันที่ 13 กรกฎาคม 2558 (น้ำเดินทางอย่างน้อย 1 วันถึง 2 วัน) เขื่อนทางภาคเหนือปล่อยน้ำมากถึง 29.75 ล้าน ลบ.ม./วัน

คลิกที่รูปเพื่อขยาย


คิดดูขนาดเขื่อนปล่อยน้ำลงมามากถึง 29 ล้านลบ.ม./วันแล้ว บางครั้ง ย้ำ! บางครั้งก็ยังไม่สามารถผลักดันน้ำเค็มให้พ้นไปจากตำบลสำแล เพื่อใช้ในการผลิตน้ำประปาได้เลย ซึ่งปี 2558 ฝนก็ยังตกน้อยกว่าปกติ ทำให้ขาวนาจำนวนมากแห่กันดักสูบน้ำดิบเข้านาตัวเองจำนวนมากก่อนที่ต้นข้าวจะแห้งตาย จึงอาจเป็นอีกสาเหตุนึงที่ทำให้น้ำดิบเหลือน้อยลงมากจนผลักดันน้ำทะเลหนุนไม่พอ


แล้วปี 2559 นี้ น้ำในเขื่อนภาคเหนือเริ่มเหลือน้อยมาก ๆ ไม่รู้ว่าจะสามารถผลักดันน้ำเค็มให้พ้นภัยแล้งไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ?

เพราะวันนี้ เราเหลือน้ำจากเขื่อนจ่ายลงมาได้แค่เพียงวันละ 17 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เท่านั้น

ซึ่งถ้าหาก ถ้าหากคนกรุงเทพฯ รวมถึงผู้คนจากต่างจังหวัดที่มาทำงานหรือมาเรียนในกรุงเทพฯ ยังคงสุรุ่ยสุร่ายใช้น้ำประปามากแบบไม่บันยะบันยังต่อไป หรือแม้แต่ใช้น้ำกันแบบปกติเหมือนเดิม ยังไม่ช่วยลดการใช้น้ำลงบ้างเลย โดยเฉพาะในหน้าร้อน ปริมาณการใช้น้ำประปาจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอีกประมาณ 30 % ก็จะทำให้ กปน. อาจต้องผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้น   และอาจผลิตไม่พอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นของคนกรุงเทพฯ ก็ได้

จากที่การประปานครหลวง ลดแรงดันน้ำประปาลงเฉพาะในตอนกลางคืน ก็ต้องอาจต้องมาลดแรงดันน้ำลงในช่วงกลางวันเพิ่มขึ้นก็ได้

เพื่อการประปานครหลวงจะได้ใช้น้ำดิบมาผลิตน้ำประปาไม่ควรเกินวันละ 4 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ตามที่กำหนดไว้ในแผนรับมือภัยแล้งปี2559 และจะได้ไม่ไปกระทบต่อน้ำดิบที่ใช้ในการผลักดันน้ำเค็มด้วย

ซี่งถ้าคนกรุงเทพฯ ยังไม่ช่วยกันประหยัดน้ำ หากหน้าร้อนต้องใช้น้ำเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอีก 30% จริงๆ  ก็เท่ากับว่า กปน. ต้องใช้น้ำดิบเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 5 ล้าน ลบ.ม./วัน

ก็เพราะเรายังไม่รู้ว่าปีนี้ฝนจะตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่? ฝนจะมาล่าช้ากว่าปกติหรือไม่?

จากแผนรับมือภัยแล้งตามที่ ผอ.กรมชลประทานที่ 12 บอกไว้คือ เขื่อนภาคเหนือยังจะจ่ายน้ำมาวันละ 17 ล้าน ลบ.ม./วัน จนถึง 30 เม.ย. 59 เท่านั้น

หากเลยกำหนดจากแผนที่วางไว้ หรือภัยแล้งอาจลากยาวเลยไปถึงเดือนมิถุนายน กรกฎาคม พอหลังวันที่ 30 เมษายน 59 เขื่อนอาจต้องลดการปล่อยน้ำให้น้อยลงต่ำกว่า 17 ล้าน ลบ.ม./วัน ก็อาจเป็นได้

ฉะนั้น คนกรุงเทพฯ ควรใช้น้ำอย่างประหยัด นั่นคือ สิ่งที่พึงกระทำที่สุดในวิกฤติภัยแล้งปีนี้ครับ

เพราะในช่วงแล้งนี้ ก็อาจมีบางวันที่ค่าความเค็มที่ ตำบลสำแล อาจมีค่าเกินมาตรฐาน ซึ่งในวันนั้น กปน.อาจต้องผลิตน้ำประปาน้อยลง ฉะนั้น จึงต้องวอนขอให้คนกรุงเทพฯ ช่วยกันประหยัดน้ำประปา

เพราะถ้าน้ำจากเขื่อนเริ่มจ่ายน้ำน้อยลงยิ่งมากเท่าไหร่ น้ำที่จะใช้ผลักดันน้ำเค็มก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น

"ถ้าลดการใช้น้ำดิบเพื่อผลิตประปาลงได้ 1 ล้านลบ.ม ก็จะมีน้ำไปผลักดันน้ำเค็มเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้าน ลบ.ม.


ชาวนาและเกษตรกรเขาคงไม่ได้เสียสละเพื่อให้คนกรุงเทพฯ ใช้น้ำฟุ่มเฟือยได้เหมือนเดิมกันหรอกนะครับ

ฉะนั้น ในเมื่อเกษตรกรเขาเสียสละแล้ว ถามว่า คนกรุงเทพฯ ล่ะเริ่มมีจิตสำนึกเสียสละบ้างรึยัง ?

ถ้าใครยังไม่ GET กรุณาอ่านบทความด้านล่างต่ออีกนิดครับ

คลิกอ่าน "ภัยแล้งปี 2559 คนกรุงเทพฯ ควรงดเล่นน้ำสงกรานต์หรือไม่"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น