วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เรียนรู้ประชาธิปไตยที่แท้จริง ผ่านสิทธิใช้ถนนของรถจักรยาน






ผมเคยเขียนเรื่อง ต้องมีหัวใจประชาธิปไตย จึงจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ในบทความนั้นผมเคยยกตัวอย่างเรื่อง คนขับรถต้องมีน้ำใจต่อคนขี่จักรยาน จึงจะเรียกว่า มีหัวใจประชาธิปไตยที่แท้จริง

ถามว่า ทำไมคนขับรถยนต์ที่มีน้ำใจกับคนขี่จักรยาน ถึงได้เรียกว่า เป็นคนมีหัวใจประชาธิปไตย ?

ตอบ เพราะประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ว่า จะยากดีมีจน จะเศรษฐีหรือยาจก ก็มีสิทธิเท่ากันในวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ซึ่งทุกระบอบปกครองในโลกนี้ หากยังเป็นระบอบที่มีความเป็นธรรม ประชาชนทุกคนไม่ว่ายากดีมีจน เศรษฐีหรือยาจก ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

ทั้งหมดที่ว่ามา คือหลักการที่ถูกต้อง แต่จะทำได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับผู้บังคับใช้กฎหมายในประเทศนั้น ๆ ว่ามีความยุติธรรม มีคุณธรรมและมีความซื่อตรงต่อหน้าที่มากแค่ไหน

เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะคนขับรถบรรทุกใหญ่ 18 ล้อ ไล่ลงมาจนถึงคนขับรถยนต์ 4 ล้อ คนขับรถกระบะ คนขี่รถมอเตอร์ไซค์ จนถึงคนขี่รถจักรยาน ก็ย่อมได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายจราจรโดยเท่าเทียมกัน เพราะชีวิตของประชาชนทุกคนมีค่าเท่าเทียมกันตามกฎหมาย

หากคนขับรถยนต์บรรทุกไม่เอื้อเฟื้อ ไม่มีน้ำใจต่อรถเล็กกว่า หรือ รถยนต์ไม่เอื้อเฟื้อต่อรถมอเตอร์ไซค์ หรือ ไม่มีน้ำใจให้รถจักรยาน ก็ย่อมมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นโดยง่าย

ผมเห็นคนบางคนแสดงความเห็นว่า รถจักรยานไม่เสียภาษีจึงไม่ควรมาขี่บนถนน นั้น ใครที่แสดงความเห็นเช่นนี้ช่างเป็นคนใจแคบยิ่งนัก

เพราะแม้รถจักรยานจะไม่ได้เสียภาษีรถประจำปีก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คนขี่จักรยานจะไม่มีสิทธิใช้ถนนร่วมกับรถยนต์ประเภทต่าง ๆ

อีกทั้งคนที่ขี่จักรยานไปทำงานในสมัยนี้ หลายคนเสียภาษีรายได้ประจำปีมากกว่าคนขับรถยนต์บางคนด้วยซ้ำ

แต่เรื่องภาษี ไม่ควรนำมาอ้างในการใช้สิทธิบนถนน เพราะ คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ก็ได้รับการยกเว้นภาษีรายได้ประจำปีกันทั้งนั้น

กะอีแค่เสียภาษีรถยนต์ หรือ ต่อทะเบียนรถยนต์ประจำปี กลับนำมาอ้างว่า ตนเองนั้นมีสิทธิใช้ถนนมากกว่าคนขี่จักรยาน

ใครที่ใช้ตรรกะเห่ย ๆ แบบนี้ ก็ต้องเชื่อว่า รถบรรทุกขนาดใหญ่ย่อมมีสิทธิใช้ถนนมากกว่ารถเก๋ง รถกระบะน่ะสิ จริงไหม ?

แต่ความจริงรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่เสียภาษีรถยนต์ประจำปี หรือต่อทะเบียนประจำปี กลับมีสิทธิใช้ถนนน้อยกว่ารถยนต์ทั่วไปด้วยซ้ำ เพราะรถบรรทุถูกกำหนดเวลาออกวิ่ง ถูกกำหนดเลนที่ใช้วิ่ง

ดังนั้นตรรกะอ้างเรื่องรถยนต์จ่ายภาษี รถจักรยานไม่จ่ายภาษี จึงเป็นความคิดอันคับแคบของคนที่ไม่รู้จักประชาธิปไตยเลยด้วยซ้ำ

เพราะถ้าใครคิดแบบนั้น ก็ต้องเชื่อว่า คนรวยที่จ่ายภาษีมากกว่าคนจน ย่อมมีสิทธิในประเทศนี้มากกว่าคนจนจริงไหม ?


-----------------------

เอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจรถเล็กมาใส่ใจรถใหญ่

ผมเองก็เป็นคนขับรถยนต์ แต่ผมแทบจะไม่เคยบีบแตรใส่รถมอเตอร์ไซค์เลย แต่ที่แน่ ๆ ผมไม่เคยบีบแตรใส่รถจักรยานเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะผมถือว่า รถใหญ่กว่าต้องเอื้อเฟื้อแก่รถเล็กกว่า

หากในถนนที่คับแคบ การใช้รถใช้ถนนก็ยิ่งต้องเอื้อเฟื้อแก่ผู้ใช้ถนนร่วมกันให้มาก อย่างเช่น ถนนในตรอกซอกซอยต่างๆ  บางถนนไม่มีทางเท้า ทั้งคนเดินถนน ทั้งคนขี่จักรยาน และคนขับรถ ก็ต้องใช้ถนนร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ถนนหนทางร่วมกัน

เพราะนอกจากผมจะขับรถยนต์แล้ว ผมก็เป็นอีกคนนึงที่ขี่จักรยานเป็นประจำ เพียงแต่ว่า ผมจะขี่จักรยานเฉพาะในละแวกบ้านเท่านั้น เพื่อขี่ออกไปซื้อของใกล้บ้านบ้าง

เมื่อ 3 ปีก่อน ผมก็เคยประสบอุบุติเหตุในขณะขี่จักรยาน โดยรถมอเตอร์ไซคฺ์คันหนึ่ง ที่คนขับมัวแต่หันไปพูดกับคนซ้อนท้าย จนไม่ระวังดีพอ จนมาเฉี่ยวแฮนด์จักรยานของผม จนจักรยานของผมล้มกลางถนน ทำให้ผมบาดเจ็บเข่าถลอก ของที่อยู่เต็มตะกร้าหน้ารถจักรยานก็หล่นร่วงหมด

แต่โชคดีที่รถยนต์ที่ตามหลังมา อยู่ในระยะห่างพอควร จึงเบรคได้ทันไม่มาชนผมซ้ำ ส่วนรถมอเตอร์ไซค์ที่ก่อเหตุ เขาขี่เลยไปแล้วจอดไกลจากผมพอควร เขาหันมาดูผมแป๊บนึงแล้วรีบขี่หนีไปเลย ผมเลยมองไม่เห็นทะเบียนรถเท่าไหร่นัก

ทั้ง ๆ ที่ผมขี่รถในซอยแถวบ้าน เพียงแต่เป็นซอยแคบ 2 เลนเท่านั้น เผื่อคุณผู้อ่านอาจรู้จัก ซอยเจ้าแม่กวนอิมโชคชัย 4 ไงครับ นึกภาพออกไหม ?

ที่ผมเล่ามานั้น เพราะผมเข้าใจหัวอกคนขี่จักรยานดี และในฐานะที่ตัวเองก็ขับรถยนต์ด้วย จึงคิดว่า การมีน้ำใจบนท้องถนนและการเคารพกฎจราจรเท่านั้น ที่จะทำให้สังคมบนท้องถนนไทยปลอดภัยมากขึ้น

หลายประเทศส่วนใหญ่ในโลก ก็ไม่ได้สร้างถนนไว้เผื่อให้จักรยาน แต่เขาก็ใช้หนทางร่วมกันได้ โดยไม่คิดแบ่งแยกชนชั้นบนถนนแต่อย่างใด

ที่จริงทุกวันนี้ เราน่าจะยกย่องคนขี่รถจักรยานให้มากด้วยซ้ำ แถมถ้าเป็นไปได้ ควรให้เกียรติคนขี่รถจักรยานให้มากกว่าคนขับรถทั่วไปด้วยซ้ำ

เพราะรถจักรยานไม่ก่อมลพิษ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำให้โลกร้อน จึงเป็นพาหนะที่รับผิดชอบต่อสังคมโดยแท้

คนที่ขี่จักรยาน ยอมร้อน ยอมเสี่ยงมากกว่า ถือว่า เขาเสียสละเพื่อส่วนรวม จึงสมควรได้รับการยกย่องให้เกียรติ

แม้ในต่างประเทศ อุบัติเหตุรถยนต์ชนรถจักรยานก็มีมากมาย เพราะอุบัติเหตุมันเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพียงแต่ว่า ในต่างประเทศเขาไม่มีใครมาอ้างสิทธิแบบโง่ ๆ เหมือนคนในบ้านเรา

ที่สำคัญหากอุบัติเหตุเกิดขึ้น เจ้าของรถยนต์ที่ก่อเหตุก็ต้องเร่งช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บโดยเร็วที่สุด ไม่ใช่เหมือนเหตุที่เพิ่งเกิดขึ้นในบ้านเรา พอชนจักรยานแล้วก็รีบหนี แล้วค่อยออกมาขอโทษทีหลังว่า "ผมผิดไปแล้ว ผมขอโทษ ผมจะบวชให้เหยื่อที่ตาย" (ถุย!!)

แบบนี้เขาเรียกว่าแค่ตอแหลเอาตัวรอด เพื่อหวังจะให้ศาลเมตตาให้พ้นคุกเท่านั้น




ผมเชื่อว่า คนขับรถยนต์ทุกคนส่วนใหญ่คุณต้องเคยขี่จักรยานมาก่อนทั้งนั้น คุณลองนึกย้อนกลับไปในสมัยคุณยังเด็ก ขี่จักรยานเล่นบนถนนสิครับ ไม่ว่าจะถนนในหมู่บ้าน ถนนในซอย หรือแม้แต่ถนนใหญ่ ก็ตาม

หากวันนั้นคุณโดนรถยนต์มาชนบ้าง จนได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือ ในวันนี้ลูกหลานของคุณโดนรถยนต์มาชนจนบาดเจ็บล้มตายบ้าง คุณจะรู้สึกยังไง ??

-----------------

รถใหญ่ รถเล็ก ก็ไม่ต่างอะไรกับ คนรวย คนจน

ถ้าคุณมีหัวใจประชาธิปไตยที่แท้จริง คุณจะไม่คิดแบ่งแยกชนชั้นบนถนนว่า ใครมีสิทธิใช้ถนนมากกว่ากัน

สุดท้ายขอถามว่า จะมีประเทศใดในโลกบ้าง ที่มีนักขี่จักรยานรอบโลกมาตายถึง 2 ราย และบาดเจ็บหนักอีก 1 ราย ?

พวกเขาขี่จักรยานไปรอบโลก ปลอดภัยมาตลอด ผ่านประเทศด้อยพัฒนามาแล้วมากมาย แต่ดันมาตายที่ไทยแลนด์

คลิกอ่าน ต้องมีหัวใจประชาธิปไตย จึงจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น