ฮาเรื่องไร้สาระบ้าง ฮาเรื่องมีสาระบ้าง กับนักการเมืองและบุคคลสาธารณะ / ใหม่เมืองเอก (akecity)
วันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2555
ดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นไทยปี 2012 อยู่อันดับที่ 88 หมายถึงอะไร ?
องค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International–TI) เผยผลการจัดอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index–CPI) ปี 2012 พบประเทศไทยได้ 37 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 88 จากการจัดอันดับทั้งหมด 176 ประเทศทั่วโลก
วันที่ 5 ธันวาคม 2555 องค์กรความโปร่งใสสากล เผยผลการจัดอันดับดัชนีชีี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ปี 2555 พบประเทศไทยได้ 37 คะแนน ดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้า แต่ยังคงต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยทั้งโลก ส่วนอันดับหล่นมาอยู่ที่ 88 ของโลก ร่วมกับประเทศมาลาวี โมร็อกโก ซูรินาเม สวาซิแลนด์ และแซมเบีย
รายละเอียดข้อมูลอ่านเพิ่มเติมได้ที่ คลิกที่นี่
------------------------------------
คะแนนภาพลักษณ์คอรัปชั่นดีขึ้น แต่อันดับตกลง หมายถึงอะไร ?
คะแนนภาพลักษณ์คอรัปชั่นดีขึ้นหมายถึงอะไร ?
ก่อนอื่นเราต้องรู้ข้อมูลคร่าวๆ ก่อนว่า คะแนนนี้ได้ส่วนใหญ่มาจากผลสำรวจความเห็นจากนักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นหลัก รวมถึงคะแนนจากองค์กรต่างชาติที่มาสำรวจและวิเคราะห์เรื่องการคอรัปชั่นในประเทศไทย
ซึ่งอาจแปลความง่ายๆ ว่า ที่ไทยมีคะแนนภาพลักษณ์คอรัปชั่นดีขึ้นกว่าในช่วงหลายปี นั่นหมายถึง นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยเขาคิดว่า การคอรัปชั่นในเมืองไทยดีขึ้น เช่น มีการเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะจากนักลงทุนต่างชาติน้อยลง
หรือแปลง่าย ๆ ว่า นักลงทุนมีความสะดวกในการเข้ามาลงทุนได้ง่ายขึ้น นักลงทุนไม่ต้องเสียค่าน้ำร้อนน้ำชาให้ข้าราชการและผู้มีอำนาจมากเหมือนอดีต
ดัชนีนี้จึงไม่อาจวัดความโกงของรัฐบาลและภาครัฐได้แน่นอนหรอกครับ เพราะรัฐบาลและข้าราชการอาจเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะหรือสินบนจากนักลงทุนต่างชาติน้อยลง
แต่กลับหันมาโกงกินภาษีคนไทยผ่านโครงการต่างๆ ของรัฐมากขึ้น หรือหันมาแบ่งหัวคิวจากพ่อค้านักธุรกิจไทยมากขึ้นก็ได้
ซึ่งนักลงทุนต่างชาติเขาจะไม่ค่อยรู้เรื่องภายในเหล่านี้มากเท่าคนไทยหรอกครับ เพราะนโยบายรัฐมักจะส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ แต่มักจะหักหัวคิวจากโครงการต่าง ๆ ในประเทศแทน
ส่วนรายละเอียดที่มาของการให้คะแนน ก็ไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ คลิกที่นี่
แล้วอันดับตกลง หมายถึงอะไร ?
ก็แปลว่า มีประเทศที่เขาพัฒนาเรื่องภาพลักษณ์คอรัปชั่นในสายตานักลงทุนต่างประเทศ และองค์กรต่างประเทศดีขึ้นกว่าไทยหลายชาติ ไทยเลยมีอันดับตกลงไป ทั้งๆ ที่ไทยมีคะแนนดีขึ้น
หรือแปลง่ายๆ ว่า ไทยได้คะแนนดีขึ้นก็จริง แต่ยังพัฒนาน้อยกว่าอีกหลายประเทศที่พัฒนาได้ดีกว่า จึงทำให้อันดับไทยตกลงไป
------------------------------
ผลสำรวจของม.หอการค้าพบว่า ดัชนีสถานการณ์คอรัปชั่นไทย ยิ่งแย่ลง
18 กรกฎาคม 2555
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีสถานการณ์คอรัปชั่นไทย (Thai Corruption Situation Index : CSI) ที่สำรวจจากกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มคือ ประชาชน ผู้ประกอบการ และข้าราชการ/ภาครัฐ 2,400 ตัวอย่าง ในเดือน มิ.ย.55 ว่า
ดัชนีสถานการณ์คอรัปชั่นไทยโดยรวมอยู่ที่ 3.5 คะแนน จากเต็ม 10 คะแนน (0 คะแนนหมายถึงรุนแรงมากที่สุด, 10 คะแนนหมายถึงไม่มีการคอรัปชั่นเลย) ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อเดือน ธ.ค.54 ที่ 3.6 ส่วนดัชนีสถานการณ์ในปัจจุบันอยู่ที่ 3.2 ลดลงจาก 3.3 และดัชนีแนวโน้มสถานการณ์อยู่ที่ 3.7 ลดลงจาก 3.9
นอกจากนี้เมื่อถามผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐจะต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่ข้าราชการ/นักการเมืองที่ทุจริตเพื่อให้ได้สัญญาหรือไม่ ตอบมากถึง 85.9% ตอบจ่าย ส่วนอีก 9.4% ตอบไม่ทราบ และอีก 4.7% ตอบไม่จ่าย โดยกลุ่มที่ตอบว่าจ่ายนั้น ส่วนใหญ่ 39.7% ตอบว่าจ่ายเงินเพิ่มพิเศษมากกว่า 25% (ประมาณ 30-35%) ของงบประมาณรายจ่ายภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนที่มีผู้ตอบ 30.6% และที่จ่าย 1-5% มีผู้ตอบเพียง 9.2% เท่านั้น
สำหรับความเสียหายของการทุจริตคอรัปชัน เมื่อประเมินจากงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ ประเภทจัดซื้อจัดจ้างค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างของหน่วยงานราชการ และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ พบว่า อัตราการจ่ายเงินพิเศษที่ 30-35% ของงบรายจ่ายฯ และงบลงทุนฯ นั้น คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 252,043-294,050.1 ล้านบาท จากงบรายจ่ายฯ และงบลงทุนรวมในปี 55 ที่ 840,143.2 ล้านบาท มีผลกระทบต่อจีดีพี 2.18-2.54%
ส่วนในปี 56 จะเพิ่มขึ้นเป็น 282,782.4-329,912.8 ล้านบาท จากงบรวมที่ 942,608 ล้านบาท มีผลกระทบต่อจีดีพี 2.25-2.63%
นางเสาวณีย์ กล่าวต่อว่า โครงการที่น่าเป็นห่วงว่าจะมีการคอรัปชันมากที่สุด จะเป็นโครงการที่มีงบประมาณในการดำเนินการมาก เช่น โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลวงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท โครงการก่อสร้างเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมของภาครัฐ มูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาท เป็นต้น อย่างไรก็ตามต้องการให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อให้สาธารณชนรับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการในทุกขั้นตอน ไม่เฉพาะแค่การเปิดเผยเงื่อนไขในการดำเนินการ (ทีโออาร์) เท่านั้น
---------------------
สรุป
ในสายตาชาวต่างชาติ ไทยอาจได้คะแนนภาพลักษณ์เรื่องคอรัปชั่นดีขึ้น แต่ในความจริงที่คนไทยเจอคือ มีการหักค่าหัวคิวเพิ่มขึ้นจากโครงการต่างๆ ของรัฐ
ซึ่งจากข้อมูลของม.หอการค้า พบว่า ปี 55 น่าจะมีการโกงจากงบประมาณรัฐมาถึง 2.52แสนล้านบาท
ส่วนในปี 56 คาดว่าการโกงจากงบประมาณ จะเพิ่่มมากขึ้น 2.82แสนล้านบาท !!
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยกล่าวเปรียบเปรยไว้ว่า ถ้าประเทศไทยไม่มีการคอรัปชั่น ถนนทุกสายในเมืองไทยสามารถสร้างได้ด้วยทองคำ !!
คลิกอ่าน มารวมแข่งตบกระบาลสมศักดิ์ เจียม กันดีกว่า
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น