วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ฆ่าสัตว์อันตราย แบบไม่ผิดกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์






ทุกปี เราจะมีข่าวสุนัข หรือ หมา กัดคนจนบาดเจ็บหรือล้มตายลงทุกปี ซึ่งถ้าในประเทศที่เจริญแล้ว เขาจะมีกฎหมายลงโทษหมาที่เสียหมาไปแล้ว ตามที่ผมเคยเขียนในบทความเก่าเรื่อง ไทยควรมีกฎหมายจัดการหมาที่เสียหมา จัดการคนที่เสียคน

ก็เลยมีข้อครหาว่า ทีคนทำร้ายหมา คนมีความผิด แต่หมาทำร้ายคน หมากลับลอยนวล ไม่มีบทลงโทษทางกฎหมาย

อย่างล่าสุดขณะที่ผมกำลังเขียนบทความอยู่นี้ มีข่าว พ่อคนนึงตีหมาที่ตัวเองเลี้ยงจนตาย สาเหตุเพราะหมาตัวนั้นมากัดลูกชายวัย 5 ขวบของเขา

โดยหลักทั่วไป คนเป็นพ่อเป็นแม่ย่อมรักลูกมาก แล้วถ้าหมาที่ตัวเองเลี้ยงแท้ ๆ ดันมากัดลูกของเจ้าของ มันก็เป็นไปได้ในพ่อแม่บางคน อาจโกรธจนขาดสติทำร้ายหมาตัวนั้นจนถึงตายได้

หรือแม้แต่ในกฎหมายปกติ ถ้ามีใครมาด่าพ่อแม่ของเรา เราก็อาจบันดาลโทสะจนทำร้ายคนที่มาด่าพ่อแม่เราได้เช่นกัน ซึ่งเมื่อขึ้นศาล ศาลก็อาจตัดสินให้เราพ้นผิดได้ ถ้าเรามีเหตุบรรเทาโทษที่เหมาะสม และไม่เกินกว่าเหตุ

แล้วกรณี พ่อทำร้ายหมาที่กัดลูกของตัวเองจนบาดเจ็บ จนหมาตาย ถามว่า พ่อคนนั้นมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่

ที่จริงไม่จำเป็นต้องเฉพาะกรณีพ่อตีหมาที่กัดลูกตัวเองจนตายหรอกครับ กรณีทั่ว ๆ ไป ถ้าหมามากัดคน ผู้ใดมาพบเหตุก็มีสิทธิเข้าไปจัดการหมาตัวนั้นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตคน หรืออันตรายต่อร่างกายคนได้เช่นกัน โดยไม่ผิดกฎหมาย ตามนี้ครับ

ดูที่ กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ มาตรา 21 ข้อ 6

มาตรา 21 การกระทำดังต่อไปนี้ ไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ตามมาตรา 20

1 การฆ่าสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหาร ทั้งนี้ เฉพาะสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร
2 การฆ่าสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์
3 การฆ่าสัตว์เพื่อควบคุมโรคระบาดตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์
4 การฆ่าสัตว์ในกรณีที่สัตวแพทย์เห็นว่าสัตว์ป่วย พิการ หรือบาดเจ็บและไม่สามารถเยียวยา หรือรักษาให้มีชีวิตอยู่รอดได้โดยปราศจากความทุกข์ทรมาน
5 การฆ่าสัตว์ตามพิธีกรรมหรือความเชื่อทางศาสนา

6 การฆ่าสัตว์ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สิน

7 การกระทำใด ๆ ต่อร่างกายสัตว์ซึ่งเข้าลักษณะของการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ โดยผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ หรือผู้ซึ่งได้รับยกเว้นให้กระทำได้โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์จากสัตวแพทยสภา ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์
8 การตัด หู หาง ขน เขา หรืองาโดยมีเหตุอันสมควรและไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ หรือการดำรงชีวิตของสัตว์
9 การจัดให้มีการต่อสู้ของสัตว์ตามประเพณีท้องถิ่น
10 การกระทำอื่นใดที่มีกฎหมายกำหนดให้สามารถกระทำได้เป็นการเฉพาะ
11 การกระทำอื่นใดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ





------------------------

อธิบายขยายความ ตามมาตรา 21 ข้อ 6

"การฆ่าสัตว์ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สิน"

หมายความว่า ถ้ามีสัตว์ที่มีท่าทางดุร้ายน่ากลัว แล้วจะเข้ามาทำอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของคนและสัตว์อื่น ๆ ผู้พบเหตุการณ์ก็สามารถกระทำการป้องกันเหตุไว้ก่อนได้

หรือแม้แต่สัตว์ที่จะมาทำลายทรัพย์สินของเราให้เสียหาย ก็สามารถป้องกันทรัพย์สินนั้นด้วยการฆ่าสัตว์นั้นได้โดยไม่ผิดกฎหมาย (แต่ต้องมีเหตุผลอันจำเป็นสมควรจริง ๆ โดยบางกรณีอาจต้องให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน)

แปลความง่าย ๆ ว่า ถ้าสัตว์ยังไม่ทันจะกัดคน หรือกัดสัตว์อื่น ๆ เช่นสัตว์ที่เราเลี้ยงเช่น หมู ไก่ เป็ด ฯลฯ เราก็สามารถป้องกันเหตุร้ายก่อนได้ ด้วยการฆ่าสัตว์ดุร้ายตัวนั้นทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอให้สัตว์ดุร้ายนั้นก่อเหตุร้ายขึ้นก่อน

เช่น ถ้ามีหมาจะมากัดสัตว์เลี้ยงของเรา เราก็ไม่รู้ว่า หมาตัวนั้นเป็นหมาบ้าหรือไม่ เราย่อมป้องกันเหตุร้ายก่อนจะกัดสัตว์ของเราได้

หรือเช่น ถ้าคุณมีลูกเล็ก ๆ หมาดุร้ายวิ่งมาเข้าหาลูกคุณด้วยท่าทางดุร้ายอาละวาด คุณคงไม่รอให้หมากัดลูกคุณก่อนใช่ไหมค่อยระงับเหตุ หรือว่า คุณจะรอให้หมากัดลูกคุณก่อน แล้วจึงระงับเหตุ ?

นี่แหละครับ ใจความสำคัญของกฎหมายที่ใช้หลักป้องกันสัตว์ร้ายก่อนเกิดเหตุร้ายขึ้น

---------------------

ยกตัวอย่างเพิ่มให้เห็นภาพ

เช่น ตัวเหี้ยแอบเข้ามาในบ้านของคุณ แล้วกำลังจะกัดเด็กทารกลูกของคุณที่นอนอยู่ หรือมีท่าทีว่าจะเข้าไปใกล้เด็กทารก หรือตัวเหี้ยกำลังคาบเด็กทารกหนีไป ถ้าคุณมาพบเห็นก็รีบชิงฆ่าตัวเหี้ยนั้นก่อน แบบนี้ก็จะไม่ผิดกฎหมายครับ เพราะมันมีเหตุจำเป็นอันควร

หรือเช่น เห็นหมาดุร้ายกำลังจะขย้ำหรือกัดเด็ก หรือกัดคน ถ้าผู้พบเห็นเหตุสามารถระงับเหตุร้ายได้ก่อน ด้วยการฆ่าหมาตัวนั้น แบบนี้ก็ไม่ผิดกฎหมายเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น บางคนที่กลัวหมา ไม่กล้าที่จะไปห้ามหมาที่จะกัดคน เพราะกลัวตัวเองจะถูกกัดไปด้วย แต่ถ้าเขามีอาวุธ เช่น ปืน แล้วถ้าเขายิงหมาดุร้ายตัวนั้นตาย แบบนี้ก็สมเหตุสมผลทางกฎหมายเช่นกัน

หรือในกรณีที่เราเกิดตกบ่อจระเข้ คุณว่า ถ้ามีใครยิงจระเข้ที่กำลังจะขย้ำคุณ เพื่อให้คุณรอดพ้นจากความตาย แบบนี้คุณจะขอบคุณเจ้าหน้าที่คนนั้น หรือกล่าวโทษเจ้าหน้าที่คนนั้นว่า ฆ่าจระเข้ทำไม ไหม ?

--------------------

สรุปท้ายบทความ

กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ เขียนครอบคลุมถึงสัตว์ทุกชนิดที่อาจทำร้ายชีวิตผู้อื่นได้ กฎหมายไม่ได้เขียนเจาะจงว่าใช้เฉพาะสุนัข หมา แมว ที่ใกล้ชิดคนเท่านั้น

หากสัตว์ใดก็ตามที่มีความอันตรายและจะทำร้ายคน ก็ใช้กฎหมายมาตรา 21 ข้อ 6 ปกป้องเหตุก่อนเฉพาะหน้าได้เช่นกัน แต่ต้องไม่ใช่กรณีการแก้แค้นสัตว์ภายหลัง

แต่บางคนพอเห็นว่า เป็นหมา เข้าหน่อย ก็ปกป้องหมาแบบไม่แยกแยะ  เพราะรักเฉพาะหมามากกว่าสัตว์อื่นโดยลำเอียง 

ทั้ง ๆ ที่ จะหมา หรือ แมว หรือ ตัวเหี้ย หรือสัตว์อื่น ๆ เช่น วัว ควาย ช้าง ถ้ามันจะทำร้ายคน ผู้พบเห็นก็สามารถระงับเหตุได้ทันที ซึ่งการระงับเหตุ บางทีมันก็อาจพลาดพลั้งเลยเถิดไปจนถึงฆ่าสัตว์ตัวนั้นตายได้

ผมขอยกตัวอย่างสุดท้ายให้คนรักหมาลองคิดดู

เช่น หมาตัวนึงกำลังจะกัดลูกของคุณ แถมมันเป็นหมาที่อาจมีเชื้อพิษสุนัขบ้าอยู่ด้วย คุณจะป้องกันลูกคุณให้พ้นภัยจากหมาตัวนั้นอย่างไรให้ทันท่วงทีในฐานะเป็นคนรักหมา หรือจะอ้างว่า ฉันรักแต่หมาที่ไม่บ้า งั้นเหรอครับ  ฝากให้คิด

บางคนเห็นคนทำร้ายหมาที่ดุร้าย หรือหมาที่กัดเด็ก แล้วคิดจะไปแจ้งความเอาผิดเขาว่า กระทำผิดกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ก็ขอให้ระวังไว้ด้วยว่า ถ้าเขากระทำไปโดยมีเหตุจำเป็นอันควร แล้วเขาพ้นข้อกล่าวหา เขาอาจฟ้องกลับคุณก็ได้นะครับ โทษฐานทำให้เขาเสียชื่อเสียง

ผมไม่ได้สนับสนุนการฆ่าสัตว์ใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะมันผิดศีลข้อ 1 แน่นอน ดังนั้น ถ้าสามารถละเว้นการฆ่าได้ก็ประเสริฐที่สุด

แต่บทความนี้เจตนาให้แง่คิดทางด้านกฎหมายครับ

----------------

ถ้าคุณยังไม่ค่อยเชื่อบทความนี้ ลองดูคลิปนี้ครับ

ทนายความ สงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์  พูดถึงกรณีหมาจะมากัดเรา หรือกัดคน เราทำอะไรได้บ้าง ฆ่าหมาได้ไหม ?

ให้ดูคลิปในนาทีที่ 3.33 เป็นต้นไป






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น